วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการหลอกเด็ก 2


เทคนิคการหลอกเด็ก 2 (การอ่านประกอบลีลา)
                เด็ก ป.3 จะเป็นเด็กที่อยู่ในวัยที่ไม่ค่อยชอบอยู่นิ่ง อยากเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เด็กผู้หญิงนี่ไม่ค่อยเท่าไร แต่เด็กผู้ชายนี่สิ ชอบลุกจากที่ เพ่นพ่านไปทั่วห้อง ไม่ได้ไปดื้อไปซนที่ไหน ขอแต่เพียงได้ลุกจากที่ เดินไปโน่นไปนี่บ้างเท่านั้น
                ถ้าเราลองสังเกตดูจะเห็นว่า ถ้าครูขออาสาสมัครให้เด็กออกมาทำอะไรสักอย่าง จะมีเด็กอาสาออกมาเยอะมาก ที่ออกมาเพราะไม่อยากอยู่กับที่ อยากได้เคลื่อนไหวโดยที่ไม่ถูกครูดุเท่านั้น
                ในการสอนเด็กอ่านประโยคบนจอภาพ (ผมใช้ Powerpoint ฉายผ่านเครื่อง Projector) หรือแต่งประโยค ผมมักจะบอกเด็กว่า “เด็กๆ ใครคิดว่าอ่านได้ หรืออ่านพอได้ ให้ยืนขึ้น แล้วอ่านดังๆพร้อมๆกัน” เด็กๆที่อยากอ่านก็จะลุกขึ้น แล้วอ่านตามที่เราต้องการ
                ในการอ่านนี้ ผมมักจะให้เด็กอ่านหรือแต่งประโยคครั้งละ 1 ประโยค แล้วให้นั่งลง แล้วก็พูดแบบเดิมในประโยคต่อๆไป ในข้อแรกส่วนมากเด็กที่อ่านจะมีน้อย แต่พอข้อที่ 2 และข้อต่อๆไป จำนวนเด็กที่อ่านจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรูปแบบประโยคสำหรับเด็กในชั้นนี้จะไม่ซับซ้อน ส่วนมากจะเป็นประโยคที่เลียนแบบกันไปมา จะเปลี่ยนแค่คำศัพท์บางคำเท่านั้น
                วันหนึ่งผมสอนเรื่องการถามความรู้สึกว่า “คุณชอบ...........ไหม” ผมแกล้งถามเด็กว่า “เด็กๆครับ เดี๋ยวครูจะให้แต่งประโยคเป็นภาษาอังกฤษ ใครคิดว่าแน่ อ่านได้ ให้ยืนขึ้น” เด็กที่เก่งจะยืนขึ้น 4 - 5 คน ผมก็แกล้งนับว่า “แถวด้านซ้ายมีคนเดียว แถวด้านขวามี 4 คน”  (พูดถึงตรงนี้เพียงอยากจะบอกว่า เด็กแต่ละแถวไม่อยากเป็นผู้แพ้ อยากเป็นผู้ชนะ อยากมีส่วนร่วมทำให้กลุ่มของตนชนะซึ่งจะมีผลในการอ่านข้อต่อๆไป)
                ผมฉายภาพขึ้นจอว่า “มาฝีกถามกันดีกว่า.....ยากนะ”  คำว่า “ยากนะ” จะเป็นการท้าทายเด็ก ทำให้เด็กอยากเอาชนะ ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วผมบอกเด็กว่า “ก่อนอ่านให้เอามือดึงหู 2 ข้าง แล้วอ่านพร้อมๆกัน” แล้วผมก็ฉายภาพขึ้นจอ
“คุณชอบไก่ทอดไหม” เด็กๆจะดึงหูตนเองแล้วแต่งประโยคแบบยิ้มๆว่า “Do you like fried chicken?” แล้วผมก็ฉายคำเฉลยขึ้นจอ
เด็กคนอื่นๆ พอได้ยินเพื่อนๆแต่งประโยค และเห็นคำเฉลยบนจอ ก็จะเกิดความมั่นใจมากขึ้น พอผมบอกว่า “ข้อต่อไปใครจะอ่านลุกขึ้น” เท่านั้นแหละ เด็กๆจะลุกขึ้นยืนเกือบหมดห้อง แล้วผมก็บอกว่า “ทุกคนให้หันหน้าไปด้านขวา ก้าวเท้าซ้ายครึ่งก้าว กอดอก ก้มหน้านิดๆ แล้วหันหน้าไปที่จอ”
“คุณชอบไข่ดาวไหม” เด็กๆจะพูดว่า “Do you like fried eggs?” แล้วยิ้ม พูดแต่งประโยคด้วยความสนุก
คราวนี้เด็กๆ จะไม่ยอมนั่งกันแล้ว ผมก็แกล้งถามว่า “พวกคุณจะเหมากันหมดทุกข้อเลยหรือ” เด็กๆจะตอบว่า “ใช่ครับ / ค่ะ”
ในข้อต่อๆไปผมก็จะให้เด็กทำท่าประกอบการแต่งประโยคดังนี้
1.             ยกมือซ้ายกอดอก มือขวาใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้ทำเป็นรูปตัววี วางไว้ใต้คาง
2.             เอานิ้วบีบจมูก
3.             เอานิ้วเขย่าคอ
4.             เอามือปิดหู
5.             เอามือเท้าเอว แล้วส่ายเอวแบบเต้นฮูลาฮูพ
6.             เอามือจับไหล่ 2 ข้างแล้วหมุนไหล่
7.             เอามือจับเข่าแล้วโยกเข่า
8.             ยืนบนปลายเท้า แล้วเขย่ง
                           ฯลฯ











                


                ในแต่ละข้อที่เด็กแต่งประโยค เด็กจะพูดด้วยความสนุกสนาน ในขณะเดียวกันก็จะได้เคลื่อนไหวร่างกายตามที่พวกเขาต้องการ
                แต่ละห้องที่สอน พอถามเด็กๆว่าชอบท่าไหนมากที่สุด เด็กๆส่วนใหญ่จะตอบว่า ชอบท่าเขย่ง ท่าเต้นฮูลาฮูพ และท่าเขย่าคอ
                ครูอย่างเราๆ จะมีความสุขที่สุดก็ตอนที่เด็กๆชอบกิจกรรมที่เราจัดให้ และร่วมกิจกรรมด้วยความสนุก ได้เรียนรู้แบบไม่รู้ตัว
                เทคนิคนี้คิดว่าใช้ได้เฉพาะเด็กเล็ก ถ้าเป็นเด็กโต คงต้องหาเทคนิคแปลกๆ ใหม่ๆเพื่อให้เขาได้เรียนรู้อย่างสนุก ตามแบบที่เขาต้องการ
                เพื่อนๆที่อ่านแล้วมีความเห็นอย่างไร เขียนวิจารณ์กันบ้างนะ อย่างน้อยลงชื่อทิ้งไว้บ้างก็ยังดี เพื่อจะได้รู้ว่าบทความที่เขียนนี้ก็มีคนอ่าน จะได้เป็นกำลังใจในการเขียนครั้งต่อๆไป


================================================
                                         
 มณเฑียร  ฤกษ์วิสาข์
25 กรกฎาคม 2555







ไม่มีความคิดเห็น: