วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ข้อคิดสำหรับครูใหม่


ข้อคิดสำหรับครูใหม่
        คิดอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีไหม เพราะเหมือนจะเป็นการสกัดกั้นครูบรรจุใหม่ไม่ให้แสดงฝีมือหรือความสามารถที่มีอยู่ แต่มาคิดดูอีกทีก็อดสงสารครูใหม่ไม่ได้ เพราะจะตกเป็นเหยื่อครูเก่าไปโดยไม่รู้ตัว เอาอย่างนี้ดีกว่า กรรมใครกรรมมัน เราเพียงแต่ให้ข้อคิด ส่วนการตัดสินใจ ให้เป็นของเจ้าตัวเองก็แล้วกัน
1.     ครูที่บรรจุใหม่หรือครูที่ย้ายไปอยู่โรงเรียนใหม่ทุกคนจะมีความคิดเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ อยากโชว์ความสามารถของตนว่าตนทำอะไรได้บ้าง อยากทำโน่น อยากทำนี่ เพื่อให้ครูเก่าๆยอมรับ  ในขณะเดียวกันก็อยากทำโน่น ทำนี่ เพื่อให้คนเก่าๆและผู้บริหารเห็นความสำคัญ และเพื่อจะได้รับความดีความชอบพิเศษ
สิ่งที่ตามมา
-         ครูใหม่จะตกเป็นเหยื่อของครูเก่า เพราะครูเก่าอยากจะโยนงานออกจากตัว  ไม่อยากมีภาระ ไม่อยากรับผิดชอบงานให้เหนื่อย ให้หนักสมอง จะโยนงานให้ใครก็ไม่ได้ เพราะครูเก่าทุกคนไม่อยากรับภาระด้วยกันทั้งนั้น จะโยนงานออกจากตัวได้ก็ต่อเมื่อมีครูบรรจุใหม่ หรือครูย้ายมาใหม่เท่านั้น ซึ่งจะตรงกับความต้องการของครูใหม่ที่อยากโชว์ฝีมือพอดี เขามอบหมายอะไรให้ก็จะรับหมด
-         ใหม่ๆ ครูใหม่เหล่านี้จะทำงานด้วยความสุข ด้วยความสนุก และจะดูถูกครูเก่าๆเหล่านั้นว่า เป็นครูที่ล้าสมัย  ไม่มีหัวก้าวหน้า ทำอะไรไม่เป็น อะไรๆก็ต้องอาศัยครูใหม่อย่างตน แต่พอนานๆไป สัก 3-4 ปี ในขณะที่ครูท่านอื่นๆได้ไปไหนมาไหนกันในวันหยุด แต่ตัวเองต้องไปทำงานที่ค้างไว้ ก็จะเริ่มคิดว่าทำไมต้องเป็นเรานะ แล้วจะเริ่มนึกเบื่องาน อยากโยนงานออกจากตัว แต่จะโยนงานให้ใครล่ะ ครูเก่าๆก็ไม่มีใครรับแล้ว คงต้องรอครูใหม่นั่นเอง
2.     ครูที่เก่งๆ มีความสามารถหลายๆด้าน ยิ่งเก่งมากเท่าไร ก็จะยิ่งได้รับมอบหมายงานมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งทำได้ดีทำได้สำเร็จมากเท่าไร ก็จะมีพวกหมั่นไส้ อิจฉาริษยามากขึ้นเป็นเงาตามตัว จะโดนนินทาสารพัด จะหาคนที่จริงใจยาก จะขอความร่วมมือจากใครก็ยาก และที่สำคัญอย่าคิดว่าจะได้ความดีความชอบพิเศษกว่าคนอื่น เพราะมันมีปัจจัยที่คิดไม่ถึงอีกหลายอย่าง
3.     ครูที่เก่งๆ ไม่ว่าจะเก่งด้านใดก็ตาม ถ้าเกิดทำอะไรพลาดขึ้นมา จะมีแต่คนคอยซ้ำเติม  บางครั้งแม้ว่าจะไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็อาจถูกใส่ร้าย ใส่ความ หาเรื่องตลอด
4.     ครูที่เก่งๆ ที่แสดงความรู้ความสามารถจนคนทั่วไปยอมรับ เมื่อเลิกทำงาน ไม่ยอมรับงาน เลิกแสดงฝีมือ สิ่งที่ตามมาคือ จะโดนด่า ว่า “มีความรู้ ความสามารถ แต่ไม่ทำ” “เป็นคนหัวแข็ง ไม่ทำตามคำสั่งของผู้บริหาร” ในเมื่อโดนสังคมพิจารณาตัดสินอย่างนี้แล้ว โอกาสที่จะก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ยากมาก
5.     จงหลีกเลี่ยงงานที่เป็น “ภาระผูกพัน”
อะไรคืองานที่เป็น “ภาระผูกพัน”
มันคืองานที่หยุดไม่ได้ ต้องทำตลอดไป เช่น งานฝึกนักกีฬา งานสอนดนตรีไทย งานทำวงดนตรี ทำวงดุริยางค์ ฝึกสอนเด็กประกวดแข่งขันต่างๆ งานพวกนี้ต้องฝึก ต้องซ้อมตลอด พอหมดชุดเก่าก็ต้องฝึกชุดใหม่ออกมาแทนที่ หยุดไม่ได้ เป็นอย่างนี้ตลอดทั้งปี ทุกปี
6.     ถ้าจะรับงาน ขอให้เป็นงานประเภท “เลิกงาน หมดงานแล้วจบ” เช่น งานพิธีกร งานติดต่อร้านค้ามาขายสินค้าวันพบผู้ปกครอง งานขอสนับสนุนสิ่งของมอบให้เด็กในวันสำคัญต่างๆ เป็นต้น งานประเภทนี้ถึงแม้เราไม่ทำ ก็หาคนทำแทนได้
7.     ในการเป็นหัวหน้างาน อย่าทำงานคนเดียว จงประชุมปรึกษา ถามความคิดเห็น แบ่งงาน กระจายงานให้ทำอย่างทั่วถึงทุกคน อย่าคิดว่าคนอื่นทำได้ไม่ดี แล้วเหมามาทำเองคนเดียว อย่าให้คนอื่นๆสบาย ทำงานน้อย เพราะถ้ามีการลงคะแนนเลือกหัวหน้างาน เราก็จะโดนเลือกตลอดไป เพราะเลือกเราแล้วเขาสบาย
8.     ในการได้รับมอบหมายให้ดูแลวัสดุอุปกรณ์ หรือห้องพิเศษต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่คนเก่าทำบัญชี บันทึกรายละเอียดว่า ได้มอบหมายอะไรให้เราดูแลบ้าง  เราเซ็นรับ แล้วดูแลเฉพาะสิ่งที่เซ็นรับเท่านั้น อย่างอื่นที่เห็นอยู่แต่ไม่อยู่ในบัญชีก็ไม่ต้องไปสนใจ
9.     อย่าเสนอโครงการหรืออะไรใหม่ๆ เพราะในบ้านเรา เขาจะถือคติว่า “ใครเสนอ คนนั้นทำ” แต่ถ้าอยากทำก็เสนอไป แต่ขอให้ไปอ่าน ข้อ 1, 2, 3, 4 อีกรอบ
10. ถ้าเสนองานหรือโครงการใหม่ๆโดยที่เราไม่ต้องรับผิดชอบ เราก็จะโดนคนที่ได้รับมอบหมายด่า โดยเขาจะเหมาว่า เป็นเพราะเราคนเดียวที่เสนอโครงการไป ทำให้เขาต้องเหนื่อย
11. อย่าเก่งกว่าผู้บริหาร อย่าคิดก่อนผู้บริหาร อย่าเตรียมการก่อนผู้บริหารสั่ง ขอให้อ่านคำประพันธ์นี้
“เร็วก็ว่าล้ำหน้า   ช้าก็ว่าอืดอาด
โง่ก็ถูกตวาด   ฉลาดก็ถูกระแวง
ทำก่อนบอก ไม่ได้สั่ง ทำทีหลังบอก ไม่รู้จักคิด
คนดีกันไปให้ไกลตัว   คนชั่วเอามาใกล้ชิด”
12. อย่าหลวมตัวเสียสละรับงานมากกว่าคนอื่นๆตามคำหวานของผู้บริหาร บางครั้งผู้บริหารจะปลอบว่า ให้รับงานไปก่อนเดี๋ยวพอมีครูคนใหม่มาก็จะให้คนใหม่ทำ แล้วเราจะรู้ไหมว่าเมื่อไรจะได้ครูคนใหม่ เมื่อไรครูคนใหม่จะมา ก็คงต้องเหนื่อยตลอดไปบางครั้งผู้บริหารอาจจะเอาความดีความชอบพิเศษมาล่อ  (เช่น การรับงานสอน 23 ชม./สัปดาห์ ในขณะที่ครูคนอื่นๆสอนเพียง 18 ชม./สัปดาห์) ผู้บริหารไม่ค่อยจำว่าเคยพูดหรือสัญญาอะไรกับใครตอนที่หลอกใช้งานเขา
13. สรุป ถ้าจะเก่ง ให้เก่งได้เฉพาะวิชาเอกของเรา ถ้าผู้บริหารถามหรือต้องการอะไรที่เกี่ยวกับวิชาเอกของเรา เราต้องตอบได้ ให้ข้อมูลได้ ทำงานนั้นให้ได้ แต่อย่าให้คนที่เอกวิชาอื่นเก่งกว่าเราในวิชาเอกของเรา เราเอกภาษาอังกฤษ แต่อย่าให้ครูเอกคณิตศาสตร์เก่งภาษาอังกฤษกว่าเรา เราต้องพัฒนาวิชาเอกของเราอยู่ตลอดเวลา สำหรับเรื่องอื่นๆ อย่าเก่ง
คิดว่าข้อคิดทั้งหมดที่เขียนมานี้ คงเป็นสิ่งเตือนใจครูใหม่ให้มีความรอบคอบใน
การรับงาน หรือทำงานมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ขอฝากครูใหม่ทุกคนในการทำงานคือ “ผลงานที่ออกสู่สายตาประชาชน จะต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อน และผลงานจะต้องออกมาอย่างดีที่สุด ถ้าไม่ใช่แบบนี้ อย่านำมาแสดง”

----------------------------------------------------------------------------------------------------