วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2562

ข้อคิดสำหรับครูที่ย้ายมาใหม่ 3


ข้อคิดสำหรับครูที่ย้ายมาใหม่ 3

        ผอ.เก่าไป ผอ.ใหม่มา ถ้านับอาจารย์ใหญ่ที่เรามาบรรจุที่อนุบาลเป็นท่านที่ 1 พอถึงปี 2542 (ปีที่ 20 ที่มาเป็นครูที่ รร.อนุบาลนครนายก) เราก็ได้ผอ.ท่านที่ 6
        คงมีเพื่อนครูไปรายงานเรื่องของเราให้ท่านทราบ เพราะในวันหนึ่งท่านให้เราไปหาที่ห้องท่านพูดกับเราว่า
        “คุณมณเฑียร ผมเห็นคุณมีความสามารถ ผมอยากให้คุณมาทำดุริยางค์ให้โรงเรียน”
“ผอ.ครับ การปฏิเสธผู้บริหาร คือการฆ่าตัวตายใช่ไหมครับ ผมยินดีตายต่อ แต่ผมไม่ทำ” หยุดไปสักครู่ก็พูดต่อว่า “ผมทราบมาว่าผู้บริหารคนเก่าได้ฝากฝังให้ผอ.เล่นงานผม”
“ไม่มีนะ ไม่มีใครฝากฝังให้ผมเล่นงานคุณ”
“แล้วทำไมปีนี้ผมไม่ได้ขั้นครึ่งครับ” (ช่วงนั้นเป็นปีฟองสบู่แตก ไม่มี 2 ขั้น มีแต่ขั้นเดียวกับขั้นครึ่ง)
“คุณไม่มีผลงาน” ผอ.ตอบอย่างมั่นใจ ชัดเจน แต่มันอยู่บนความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสของเรา
“ขอโทษนะครับผอ. ผมเป็นหัวหน้าสายชั้นป.6 ในขณะเดียวกันผมก็เป็นหัวหน้าหมวดภาษาอังกฤษ ผมเป็นหัวหน้างาน 2 งาน ผมทำงานอย่างสุดฝีมือทั้ง 2 งาน จนคนอื่นๆยอมรับ แต่ในสายตาของผอ. ผมกลับไม่มีผลงาน ผมกล้าท้าให้ทั้ง 11 คนที่ได้ขั้นครึ่งเอางานมารวมกัน แล้วผมขอเอางานของผมคนเดียวจับ แล้วมาดูกันว่างานใครจะมากกว่ากัน ผอ.อยากให้ผมทำตัวเหมือนครูสมชายใช่ไหมครับ ที่วันๆไม่ต้องทำอะไร มาแค่สอนหนังสือกับมาเอาอากาศที่โรงเรียนหายใจอย่างอื่นไม่ต้องทำ แต่ผลสุดท้ายเขาก็ได้ขั้นเดียวแบบผมทั้งๆที่ผมทำงานอย่างสุดชีวิต จะให้ผมทำแบบนั้นใช่ไหมครับ”
ทำไมแค่เรื่องไม่ทำวงดุริยางค์จึงทำร้ายเราได้นานขนาดนี้
ยังดีที่ ผอ.ท่านที่ 7 ท่านต่อมา ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่ รร.อนุบาลฯ ในปี 2549 ท่านเป็นเพื่อนเราตั้งแต่สมัยเรียนที่วค.อยุธยา ก่อนที่ท่านจะย้ายไป ก็ได้พบท่านโดยบังเอิญในร้านอาหารจึงขอกับท่านไว้ว่า
“ไอ้ต๋อย ถ้ามึงไปอยู่อนุบาลนะ กูขอมึง 3 เรื่องอย่ามาพูดกับกู นอกนั้นกูเต็มที่กับมึง”
“เรื่องอะไรมั่งวะ”
“ดุริยางค์ สองภาษา คอมพิวเตอร์ อย่ามาขอให้กูทำ”
แล้วท่านก็ให้เรา ทำให้เราไม่เครียด ทำงานต่างๆที่ท่านวางใจ มอบหมายให้ทำอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ทุกอย่าง
-----------------------------------------------------------------------------------------------
พอมาถึงตอนนี้ตอนที่เราเกษียณแล้ว แล้วหวนคิดถึงอดีตที่ผ่านมา เราอยากกลับไปกราบผอ.ท่านที่ไม่รับผิดชอบกับคำสั่งของท่าน กับผู้ช่วยผอ.ท่านที่ไม่อนุมัติให้โรงเรียนเลี้ยงอาหารเด็กดุริยางค์ ทั้งสองท่านนี้ทำให้เราเกลียดงานดนตรีในโรงเรียน เราจึงต้องหาทางโยนงานออกจากตัว แล้วเราก็ทำได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าผลที่ตามมาจะทำร้ายเราอย่างแสนสาหัสก็ตาม
ในทางกลับกัน ถ้าทุกสิ่งเป็นไปตามที่เราต้องการ คือผอ.ท่านช่วยเหลือเราเรื่องค่าซ่อมอิเล็คโทน สนับสนุนการทำวงดุริยางค์ทุกอย่างตามที่เราขอ ให้ความดีความชอบเราตามสมควร เราคงหลงทำวงดุริยางค์จนเกษียณแน่นอน เราคงเหนื่อยต่อ ไม่อยู่สุขสบายตลอดเวลา 30 ปีเหมือนที่ผ่านมา คิดดูอีกทีนะว่า มันคุ้มไหม
---------------------------------------------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

ข้อคิดสำหรับครูที่ย้ายมาใหม่ 2


ข้อคิดสำหรับครูที่ย้ายมาใหม่ 2

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นครูอยู่โรงเรียนอนุบาลนครนายก เคยเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านท่าข้ามตั้งตรงจิตร 10.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรามาก่อน
ปีแรกที่ย้ายไปอยู่โรงเรียนนี้ ครูใหญ่เห็นเราเล่นกีต้าร์เป็นก็ได้ถามเราว่า
“มณเฑียร ทำวงดนตรีของโรงเรียนเป็นไหม”
“ผมไม่เคยเรียน ไม่เคยเล่นวงโรงเรียนมาก่อน ถ้าครูใหญ่จะให้สอนก็ลองดูก็ได้ครับ”
พอตอบไปอย่างนี้เท่านั้นแหละ งานเข้าเลย ครูใหญ่ก็มีหนังสือไปขอเรี่ยไรเงินจากผู้ปกครอง แล้วก็ได้เงินซื้ออุปกรณ์การทำวงดนตรีจนครบ
ปัญหาที่หนักใจที่ทำให้การทำวงดนตรีประสบความสำเร็จอย่างล่าช้าคือ
1.     เด็กนักเรียนไม่มีความพยายามและความอดทน อยากเล่นเป็นแต่ไม่อยากซ้อม
กว่าจะตามตัวมาซ้อมได้แต่ละที เหนื่อยมาก
2.     ปัญหาจากเพื่อนครูที่อิจฉาริษยา ไม่อยากให้เราทำงานได้อย่างสะดวก ชอบเอา
เด็กวงดนตรีไปทำกิจกรรมอื่นๆ จนเด็กแทบไม่ได้ซ้อม พอไปบอกครูใหญ่ ท่านกลับบอกให้ไปตกลงกันเอง เซ็งนะ
3.     ครูคนเดียว ดูแลเด็กเกือบ 30 คน ไหนจะเครื่องดนตรีอีก เหนื่อยนะ กว่าจะได้
ซ้อมแต่ละครั้ง
ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะทำสำเร็จ ไม่ใช่ทำแค่ให้เด็กเล่นเพลงเดินแถวเท่านั้น แต่ต้อง
ทำวงดนตรีแบบมีนักร้องในงานประจำปีของโรงเรียนด้วย
        งานประจำปีของโรงเรียนจบ เด็กๆจบการศึกษา ไปเรียนต่อที่อื่น แต่งานทำวงดนตรียังไม่จบ ต้องฝึกเด็กใหม่แทนที่เด็กเก่า
        ตุลาคม 2521 เรียนจบภาคค่ำที่ มศว.บางแสน แล้วทำวงดนตรีเด็กให้แสดงวันปีใหม่ พอกลางเดือนมกราคม 2522 ได้รับจดหมายจากพี่สะใภ้ที่เป็นครูสอนที่โรงเรียนอนุบาลนครนายก ข้อความในจดหมายสรุปได้ความว่า อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอนุบาลนครนายก ได้แจ้งให้ครูทราบว่าจะรับครูวุฒิปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ 1 ตำแหน่ง ใครมีญาติพี่น้องก็ให้มาสมัคร เพราะอยากได้พี่ๆน้องๆมากกว่าคนอื่นๆ
        พี่สะใภ้ได้เข้าไปหาอาจารย์ใหญ่แล้วแจ้งให้ท่านทราบว่าน้องสามี (คือเรา) เรียนจบเอกอังกฤษพอดี ตอนนี้เป็นครูที่บางปะกง และได้ทำวงดนตรีให้โรงเรียนด้วย อาจารย์ใหญ่ท่านก็บอกให้ไปบอกให้เรามาสมัครสอบ เพราะอยากได้เราที่สอนได้ทั้งภาษาอังกฤษและทำวงดนตรีได้ด้วย
        ในปีนั้นจังหวัดนครนายกต้องการครูเอกอังกฤษ 3 ตำแหน่ง และมีมาสมัครสอบ 3 คนพอดี เราโชคดี สอบได้ที่ 1 เราเลือกโรงเรียนอนุบาลนครนายก เพราะใกล้บ้านที่สุด
        ในวันที่ไปรายงานตัวกับอาจารย์ใหญ่ ท่านมอบหมายงานครูประจำชั้น ป.5. สอนภาษาอังกฤษ 4 ห้องและวิชาอื่นๆคือพละ ดนตรี ศิลปะ และที่หนีไม่ออกคือ การทำวงดุริยางค์ เพราะท่านมีข้อมูลในตัวเราหมดแล้ว
        ในช่วงนั้นที่ รร.อนุบาลนครนายกมีครู 37 คน เป็นครูผู้ชาย 4 คน เรามาบรรจุเป็นคนที่ 4 และมีอายุน้อยที่สุด แต่มีครูท่านหนึ่งตอนนั้นท่านอายุประมาณสี่สิบ ท่านก็เก่งดนตรี เราได้แต่สงสัยว่า ในเมื่อท่านเก่งดนตรี ทำไมท่านไม่ทำวงดุริยางค์ของโรงเรียนนะ
อีก 3-4 ปีต่อมา เราจึงเข้าใจ
        ปีต่อมา อาจารย์ใหญ่ท่านได้ย้ายไปอยู่ รร.อนุบาลสุโขทัย และได้ ผช.อาจารย์ใหญ่จาก รร.อนุบาลสระบุรีมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ เราก็ต้องทำวงดุริยางค์เหมือนเดิม
        ปี 2524 ช่วงปิดเทอมกลาง เราทราบข่าวจากเพื่อนที่อยู่จังหวัดปราจีนบุรีว่า มีการอบรมดนตรีที่ รร.อนุบาลปราจีนบุรี จึงไปขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ ตลอดเวลา 8 วัน (จาก 9 วัน) ที่เข้าอบรม เราตักตวงความรู้ทางด้านดนตรี ทั้งการฝึกอ่าน เล่นโน้ตสากล การทำวงดุริยางค์ การทำวงดนตรี ตลอดจนการใส่โน้ตประสานเสียง ได้มากที่สุด เพราะตั้งใจจะนำไปพัฒนาวงดุริยางค์ของโรงเรียน และก็ทำได้สมความตั้งใจทุกอย่าง ช่วงนั้นวงดุริยางค์ของ  รร.อนุบาลนครนายกมีชื่อเสียงในจังหวัดมาก
        ปี 2526 มีอยู่ช่วงหนึ่ง จะมี ผอ.ปจ.ย้ายมาดำรงตำแหน่งที่นครนายก ผอ.รร.อนุบาลนครนายก (ตอนนี้ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ได้เปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว) ได้มีคำสั่งให้เราสอนเด็กเล่นอิเล็กโทนเพื่อจะได้เล่นต้อนรับ ผอ.ปจ.ที่จะย้ายมา
        แต่โรงเรียนไม่มีอิเล็กโทน ที่มีอยู่คือพี่สาวเราที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ตอนนั้นอิเล็คโทน แพงมาก เครื่องที่พี่สาวมี ในห้างราคา 23000 บาท ในขณะที่เงินเดือนเราแค่ 2300 บาทเท่านั้นเอง เราจึงไปขอยืมพี่สาวมาให้เด็กนักเรียนซ้อมตอนกลางวัน แล้วโชคร้ายก็มาเยือนทันที
        เด็กซ้อมเล่นอิเล็คโทนได้ 4-5 วัน เครื่องเริ่มมีปัญหา เสียงแตก เราบอกผู้บริหาร แต่ท่านไม่รับรู้ ไม่ยอมรับผิดชอบอะไร ครูบางท่านพูดใส่เราว่า “เครื่องเสียอยู่ก่อนหรือเปล่า” เหมือนกับว่าเราโกหก เอาเครื่องเสียมาให้เด็กเล่นเพื่อที่จะให้ทางโรงเรียนซ่อมให้ เพราะเครื่องเป็นของพี่สาวเรา เรากล้ำกลืนเอาเครื่องไปซ่อมที่บริษัทในกรุงเทพฯ ค่าซ่อม 3500 บาท เงินเดือนเราเกือบ 2 เดือนหายวับไปเพราะคำสั่งที่ไม่รับผิดชอบของผู้บริหาร ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤตของชีวิตทีเดียว เพราะเราต้องส่งน้องเรียน ต้องผ่อนสหกรณ์เพราะกู้มาให้ทางบ้าน จึงต้องไปกู้หนี้นอกระบบซึ่งค่าดอกเบี้ยโหดมาก นี่จึงเป็น ความเจ็บปวดในการทำวงดนตรีครั้งแรก
        ทุกๆปีในกลุ่มโรงเรียน จะมีการแข่งขันกีฬาเรียกว่า กีฬากลุ่ม จะมีการเดินแถวนำนักเรียนเดินเข้าสู่สนามกีฬา ก่อนวันเปิดกีฬาเราก็ต้องฝึกซ้อมเด็กนักเรียนในการเล่นดนตรี เดินแถว เพื่อความสมศักดิ์ศรีของโรงเรียนใหญ่ วงดุริยางค์จะต้องยิ่งใหญ่ พร้อมเพรียง ดนตรีต้องแน่น เราจึงนัดเด็กมาซ้อมในวันเสาร์เพราะวันจันทร์กีฬากลุ่มจะเริ่มแล้ว เราบอกเด็กว่าให้มาซ้อมวันเสาร์ ไม่ต้องเอาตังค์มาเพราะเราจะขอข้าวทางโรงเรียนให้ ทุกครั้งที่เราขอ โรงเรียนก็จะจัดให้ตามที่เราต้องการ
        แต่พอเราไปขอกับ ผช.ผอ.ท่านกลับปฏิเสธ ท่านบอกว่าเป็นวันหยุดทำเรื่องเบิกเงินลำบาก (ครั้งก่อนๆ ทำไมทำได้นะ) ก็ขอท่านว่า งั้น ขอแรงคนงานทำอาหารได้ไหมเดี๋ยวจะซื้อวัตถุดิบมาให้ ท่านก็ปฏิเสธอีก อืมมมม งานเข้าอีกแล้ว สรุปว่า พอวันเสาร์เราต้องแจกเด็กคนละ 10 บาทเพราะเราบอกเด็กไปว่า ไม่ต้องเอาตังค์มา เราต้องรับผิดชอบคำพูดของเรา เด็กกองดุริยางค์มี 51 คน วันนั้นเราหมดเงินไป 510 บาท เงินเดือนเราเท่าไหร่นะ
นี่เป็น ความเจ็บปวดในการทำวงดนตรี ครั้งที่ 2
        สมัยนั้นเด็กที่อยู่วงดุริยางค์จะมีการแต่งตัวที่เด่นกว่าเด็กนักเรียนทั่วไป แต่ไม่ถึงกับใส่ชุดเหมือนสมัยนี้ ยกตัวอย่าง เด็กที่เล่นกลองแท็ก จะมีอุปกรณ์ประจำตัวคือ สนับแข้ง 2 ข้าง ถุงมือ 2 ข้าง ไม้กลอง 2 อัน สายสะพายกลอง 1 เส้น กลอง 1 ใบ ผ้าหน้ากลอง 1 ชิ้น แล้วทั้งวงมีกี่คน รวมแล้วจะมีอุปกรณ์กี่ชิ้น ทั้งหมดนี้ เราดูแลคนเดียว
        หลายครั้งที่เด็กเก็บของไม่เป็นระเบียบทั้งๆที่เรากำชับไว้แล้ว ทำให้เราถูกผู้บริหารตำหนิ พอโดนตำหนิหลายๆครั้ง เราก็คิดนะว่า ทำไมกูต้องทำวะ นี่เป็น ความเจ็บปวดในการทำวงดนตรี ครั้งที่ 3
        เสียเวลา เสียแรง เสียเงิน โดนตำหนิ ความดีความชอบไม่เคยได้เพราะดนตรี แล้วจะทำไปทำไม ถามว่าเบื่อไหมที่ต้องทำวงดุริยางค์ ตอบได้โดยไม่ต้องคิดว่า “เบื่อ เบื่อมาก
แล้วจะทำยังไงถึงจะโยนงานนี้ออกจากตัวได้ โดยที่เราไม่ต้องทำวงดุริยางค์อีก คำตอบก็คือ คอยครูใหม่ย้ายมา
        อีก 2 ปีต่อมา ชัยกับโอ๊ตย้ายมาสอนที่ รร.อนุบาลฯ ทั้งสองคนนี้เรียนกับเรามาตั้งแต่เด็ก กับชัยเรียนด้วยกันตั้งแต่ ป.3 จนถึงมศ.3 แต่โอ๊ตบ้านอยู่ใกล้กัน เรียนด้วยกันจนจบ ป.กศ.สูง แล้วไปเจอกันอีกทีที่ มศว.บางแสน เราจึงสนิทสนมคุ้นเคยกับโอ๊ตมากกว่า
        ตอนเรียนมัธยม ชัยเคยเล่นกลองแท็กในกองดุริยางค์ของโรงเรียน เราจึงใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างในการโยนงานดุริยางค์ออกจากตัว โดยก่อนที่จะขอลาออกจากการทำวง ได้จีบชัยไว้ก่อนแล้ว
        ในวันประชุมประจำเดือนของเดือนนั้น พอถึงวาระอื่นๆ เราลุกขึ้นขอลาออกจากการทำวงดุริยางค์โดยแนะนำให้ชัยเป็นคนรับช่วงต่อ ผอ.ท่านอนุมัติและได้ถามชัยว่าทำได้ไหม ชัยตอบว่าทำได้ ท่านเลยมอบหมายให้ชัยทำโดยมีโอ๊ตเป็นผู้ช่วย วันนั้น นับว่าเป็นวันที่เรามีความสุขมากที่สุดในชีวิต เราสลัดแอกออกจากบ่าได้แล้ว แต่หลังจากนี้สิ่งที่เราจะได้รับคืออะไร แล้วเราจะรับได้ไหม ต้องคอยดูแล้วนะ
        แรกๆ ชัยกับโอ๊ตแบ่งหน้าที่กันสอน โดยชัยสอนกลอง โอ๊ตสอนดนตรี เรารู้แค่นี้เพราะเราไม่อยากสนใจหรือใส่ใจวงดุริยางค์อีก แต่ก็ทราบมาว่า ผอ.ท่านได้จ้างอาจารย์จากดุริยางค์กรมตำรวจมาช่วยสอนเด็กในวันเสาร์ ค่าจ้างครั้งละ 800 บาท เรารู้แค่นี้ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าอาจารย์จากดุริยางค์กรมตำรวจมาสอนได้กี่เดือน (ทีอย่างนี้มีตังค์จ้าง)
        ตอนหลังการเดินแถวของเด็กวงดุริยางค์จากที่เป็นระเบียบ มีความพร้อมเพรียง ก็กลายเป็นการเดินแบบวงกลองยาว อุปกรณ์ขาดๆ หายๆ ครบบ้างไม่ครบบ้าง เล่นไปแหย่กันไป ช่วงนี้ชัยได้หลบไป ไม่มายุ่งแล้วปล่อยให้โอ๊ตทำวงคนเดียว
        ผอ.คนเก่าย้ายไป คนใหม่ย้ายมา ด้วยความที่โอ๊ตได้ความดีความชอบไปแล้ว และเริ่มเบื่อที่จะทำวง พอ ผอ.ใหม่ย้ายมา เขาก็เข้าหาแล้วบอกกับผอ.ใหม่ว่า “ผอ.ครับ ดุริยางค์ให้มณเฑียรทำเถอะครับ มณเฑียรทำเก่ง มณเฑียรทำดีจนมีชื่อ ผอ.ลองถามครูท่านอื่นๆดูก็ได้ครับ”
        แล้วต่อมา ผอ.ก็มาพูดกับเราว่า “เทียน ทำดุริยางค์ให้พี่หน่อยนะ” “ไม่ครับ”
        ปี 2532 เราแต่งงาน ผช.วิชาการมาพูดกับเราว่า “เทียน เอ็งแต่งงานกับน้องเปี๊ยกแล้ว เอ็งมีเวลามาทำดุริยางค์ให้โรงเรียนแล้วนะ” “พี่ ตอนโสด ผมยังไม่มีเวลาทำให้ แล้วตอนนี้ผมแต่งงานแล้ว ผมยิ่งไม่มีเวลาให้นะ”
        “เทียน ทำดุริยางค์ให้พี่หน่อย ทำให้ได้รางวัลระดับชาตินะ” “ไม่ครับ”
        “เทียน พี่ขอเทียนให้ทำดุริยางค์ให้พี่หลายครั้งแล้ว แต่เทียนก็ปฏิเสธ ถ้าพี่ออกคำสั่งมา เทียนจะปฏิเสธไม่ได้นะ”
        “ถ้า ผอ.แน่จริง ผอ.ออกคำสั่งมาสิครับ ผมยอมโดนหักเงินเดือน ผมยอมโดนลดขั้นเงินเดือน แต่ผมไม่ทำ”
        แล้วรู้หรือยังว่า ผลที่ตามมาจากการที่เราเลิกทำวงดุริยางค์คืออะไร
1.     การปฏิเสธผู้บริหาร คือการฆ่าตัวตาย
2.     เสียชื่อ กลายเป็นคนหัวแข็ง ไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
3.     เสียโอกาส ถึงแม้จะทำดีด้านอื่นๆมากมายแค่ไหนก็ตาม ในเมื่อกลายเป็นคนหัวแข็งในสายตาผู้บังคับบัญชาแล้ว โอกาสที่จะได้ความดีความชอบนั้น ยากมาก
4.     สังคมตำหนิ หาว่าเล่นตัว หยิ่ง มีความสามารถแต่ไม่ทำ ไม่เสียสละเพื่อเด็ก เพื่อโรงเรียน
นี่เป็น ความเจ็บปวดในการทำวงดนตรี ครั้งที่ 4
ผู้บริหารจะให้ครูที่เราเคารพ รัก ศรัทธา มาพูดกับเรา เพื่อให้เรากลับไปทำ บางคน
ทำให้เราหมดความเคารพ รัก บางคนทำให้เราหมดความศรัทธา บางคนทำให้เราเกลียด ขยะแขยงทันที เพราะพวกนี้จะมาพูดเพื่อให้ตัวเองดูดี
        “เทียน เธอน่ะมัน เหี้ย มีความสามารถแต่ไม่ทำ”
        “ถ้าพี่เก่งแบบเธอ พี่ทำเพื่อเด็ก ทำเพื่อโรงเรียนไปนานแล้ว”
        “เทียน เรื่องมันแล้วไปแล้ว อย่าไปคิดมาก”
        “เทียนทำเถอะ ทำเพื่อเด็ก เพื่อโรงเรียน”
                        ฯลฯ
        แต่พี่ที่เรารัก เราเคารพ เราศรัทธา จะเข้าใจเรา จะไม่มาพูดเรื่องนี้กับเราเลย
        -------------------------------------------------------------------------------------------
“ไอ่เทียน มึงรู้ไหมว่าตอนนั้นมึงขออาหารเขา ทำไมเขาไม่ให้มึง เพราะเขาว่ามึงโกหก
เขา หลอกลวงเขา เขามาโรงเรียนทุกครั้งเห็นแต่เด็กเล่นบอลทุกครั้ง มากี่ทีๆก็เห็นแต่เด็กเล่นบอล”
        “โอ๊ต เขามาตอนไหน เขาก็จะเห็นเด็กกูเล่นบอลตลอด เพราะกูแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มกลองกับกลุ่มดนตรี ถ้ากูซ้อมกลอง กูก็จะให้กลุ่มดนตรีไปเล่น พอกูซ้อมกลุ่มกลองได้ที่ กูก็จะเรียกกลุ่มดนตรีมาซ้อม แล้วให้เด็กกลุ่มกลองไปเล่น พอซ้อมได้ที่กูถึงจะให้มาซ้อมพร้อมกัน ทำไมเขาคิดอย่างนั้นวะ ทำไมเขาไม่มาถามกู ทำไมเขาไม่ดูผลงานที่ออกมา”
        -----------------------------------------------------------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562

ข้อคิดสำหรับครูที่ย้ายมาใหม่ 1


ข้อคิดสำหรับครูที่ย้ายมาใหม่ 1
โอ๊ตเป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งจบครูที่เดียวกัน และได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนเดียวกับเรา ด้วยความที่เราเป็นครูเก่า อยู่ที่โรงเรียนนี้มาก่อนเมื่อเห็นเพื่อนอยากโชว์ฝีมือ โดยการรับงานมาก ก็ห่วงเพื่อนจึงเตือนเพื่อนด้วยความห่วงใยว่า
“โอ๊ต โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนใหญ่ มีงานเยอะ อะไรที่มึงอยากทำมึงก็ทำ อะไรที่มึงปฏิเสธได้ ก็ปฏิเสธไป ไม่ใช่ว่าไอ้โน่นมึงก็รับ ไอ้นี่มึงก็รับ ไม่งั้นมึงจะรับเละ และงานของมึง มึงก็จะทำไม่ทัน”
“อ๋อ มึงอิจฉากูเหรอ”
เพื่อนตอบแบบนี้ เราเจ็บปวดมากจริงๆเลย เพื่อนมองความปรารถนาดีของเราเป็นความอิจฉาไปแล้ว
ปีต่อมา
“ไอ้เทียน มาช่วยกูทำงานหน่อย งานกูเยอะ กูทำไม่ไหวแล้ว”
“อ้าว กูเตือนมึงแล้วไง แล้วมึงก็บอกว่ากูอิจฉามึง”
“ถ้ากูไม่ทำอย่างนี้ กูจะได้สองขั้นเหรอ”
“ไอ้เหี้ย นี่หรือวะเพื่อน พอได้สองขั้นแล้ว ได้ความดีความชอบแล้ว มาโยนงานให้คนอื่น”
“เฮ้ย กูพูดเล่น กูพูดเล่น” เพื่อนพูดเล่นจริงไหม
-----------------------------------------------------------------------------------------------
“ไอ้เทียน ช่วยแปลงโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ เป็นโน้ตตัวเลขให้กูหน่อย กูจะเอาไปสอนเด็กวงดุริยางค์”
“มึงจะเอากี่เพลง เอาเพลงอะไรมั่ง”
“เพลงใกล้รุ่ง ยามเย็น สายฝน”
“ได้ เดี๋ยวกูจัดให้”
วันรุ่งขึ้น
“โอ๊ต นี่ เพลงที่มึงอยากได้”
“มึงช่วยกูอย่างนี้ดีแล้ว กูมาอยู่อนุบาลนี่ กูอยากให้เขารู้ว่า อะไรที่มึงทำได้ กูก็ทำได้
อีก 3-4 ปีต่อมา
“ไอ้เทียน ถ้ามึงกลับมาทำดุริยางค์นะ กูจะทูลเกล้า ถวายให้มึงเลย กูเบื่อชิบหายเลย”
“ไอ้โอ๊ต ถ้ากูอยากทำดุริยางค์นะ มึงไม่ได้แตะหรอก แล้วอีกอย่าง กูโยนให้ไอ้ชัย ไม่ได้โยนให้มึง มึงเสือกเอง”
ตอนที่คุยกันตอนนั้น เราสองคนอายุประมาณ 31
------------------------------------------------------------------------------------------
ตอนอายุ 40 ได้คุยกันในงานแต่งงานลูกสาวเพื่อนเกี่ยวกับเรื่องการทำวงดุริยางค์ของโรงเรียน
“ไอ้เทียน กูเบื่อชิบหายเลย”
“เรื่องของมึง ก็มึงเก่งนี่หว่า” หยุดเว้นระยะสักพักจึงพูดต่อว่า “โอ๊ต โอกาสที่ครูจะได้ย้ายมาโรงเรียนเรานี่ ยากไหม”
“ยากว่ะ ยากมาก”
“ในจำนวนที่มึงว่ายากน่ะ เผอิญมีครูได้ย้ายมา โอกาสที่เขาจะทำวงดุริยางค์เป็นนี่ ยากกว่าไหม”
“อืม ยากกว่ามากว่ะ”
“เพราะฉะนั้น มึงจงทำวงดุริยางค์ไปจนกว่าจะเกษียณ”
“เฮ้ย ไม่หรอก”
ก็ได้แต่พูดไป ความจริงคือโอ๊ตทำวงดุริยางค์ตั้งแต่อายุ 29 จนเกษียณ ได้โชว์ฝีมือสมความตั้งใจแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------------------
ท้อป เป็นลูกศิษย์ที่เรียนจบเอกพลศึกษา ตอนนี้มาเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียน  ใหม่ๆก็สอนพละอย่างเดียว แต่ต่อมาก็ไปช่วยคนงานติดตั้งเครื่องเสียงในอาคารอเนกประสงค์ตอนที่มีการประชุมผู้ปกครอง หรือไม่ก็มีงานสังสรรค์ในโรงเรียน และต้องหัดควบคุมเครื่องเสียงไปด้วย และตอนหลังกลายเป็นหน้าที่ประจำที่จะต้องติดตั้งและควบคุมเครื่องเสียงตลอด
วันหนึ่งหลังจากที่เราเกษียณไปแล้ว ได้ไปรับครูกฤษณาที่โรงเรียน และเห็นท้อปกำลังติดตั้งเครื่องเสียงและทดลองไมค์อยู่ พอท้อปเห็นเราก็วางไมค์ เดินเข้ามาหาแล้วพูดว่า
“ครูครับ ผมซึ้งกับคำว่า ภาระผูกพัน ที่ครูเตือนผมแล้วครับ” เรายิ้ม ฟังท้อปพูดต่อ “ครูครับ ถ้าผมไปบรรจุที่อื่น แล้วผมย้ายมาสอนที่นี่ งานนี้ผมจะโดนทำอีกไหมครับ”
“โดนแน่ ยังไงท้อปก็ต้องโดน เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าท้อปทำได้ ทำเป็น”
พอได้ยินคำตอบของเรา ท้อปหน้าเสียทันที
คนเราทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น พอผู้บริหารรู้ก็จะได้รับมอบหมายให้ทำ ไม่มีทางปฏิเสธได้ ถ้าปฏิเสธเมื่อใด ก็เป็นการฆ่าตัวตายทันที เพราะฉะนั้น อย่าให้ใครรู้ว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น

----------------------------------------------------------------------------------------