วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สอนให้เด็กทะเลาะกัน

สอนให้เด็กทะเลาะกัน

ทันทีที่ผมก้าวเท้าเข้าห้อง ป.3/……. เสียงนักเรียนหัวหน้าห้องดังขึ้นทันที
“Stand up, please.” แล้วนักเรียนทุกคนก็พูดพร้อมกันเหมือนทุกครั้งที่ผมเข้าห้องสอนคือ
“Good morning, teacher. How are you?”
บทสนทนาทักทายกันบทนี้ผมพูดมาตั้งแต่ผมเริ่มเรียนภาษาอังกฤษแล้ว แต่วันนี้ผมนึกสนุกขึ้นมาจึงพูดกับเด็กว่า
“เดี๋ยวๆ วันนี้ผมจะพูดแบบในหนังเรื่อง ‘แฟนฉัน’ นะ”
ว่าแล้วผมก็จีบปากจีบคอพูด แล้วก็ทำหน้าตาเหมือนครูภาษาอังกฤษในหนังว่า
“Good morning, students. I’m fine, thank you. And you?”
เด็กทุกคนในห้องหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน แล้วก็รีบตอบผมทันที
“I’m fine, too. Thank you.”
“Sit,” ผมเว้นช่วงนิดหนึ่งลอยหน้าลอยตา แล้วพูดต่อ “Down.”
เด็กๆพากันอมยิ้มเมื่อผมใช้ลูกเล่นแบบที่เคยเห็นในภาพยนตร์

*************************************************************
วันนี้สิ่งที่ผมเตรียมมาสอนเด็กคือ การบอกความรู้สึก ‘ไม่ชอบ’ ซึ่งในบทนี้จะเกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ
ผมเริ่มต้นทบทวนคำศัพท์โดยที่ผมชูบัตรคำชื่ออาหารและเครื่องดื่มให้เด็กอ่านทีละใบ โดยให้เด็กอ่านพร้อมกันทั้งห้อง พอหมดชุดก็ให้อ่านทีละกลุ่ม จากนั้นจึงชูบัตรให้อาสาสมัครอ่านทีละคน

ผมขึงเชือกฟางกับตะปูเล็กๆที่ตอกไว้ด้านข้างกระดานดำทั้งสองด้าน ให้เด็กอ่านบัตรคำอีกครั้ง แล้วนำบัตรคำไปห้อยติดกับเชือกโดยใช้ที่หนีบผ้าที่เตรียมมาหนีบไว้จนหมดทุกคำ

คราวนี้ผมหยิบไม้ชี้กระดานขึ้นมา บอกกับเด็กๆว่าขออาสาสมัครมาอ่านคำศัพท์ที่ห้อยไว้ คนละ 1 คำ จะเป็นคำใดก็ได้ อ่านคำไหนให้ชี้คำนั้น แล้วให้เพื่อนๆอ่านตาม
เด็กสิบกว่าคนกรูกันออกมาหยิบไม้ ชี้คำศัพท์ แล้วอ่านคำศัพท์กันอย่างสนุกสนาน บางคนก็ออกมาหลายเที่ยว เด็กที่ขี้อายผมก็จะเรียกออกมาให้อ่านด้วย โดยหวังแต่เพียงว่าให้เขาได้สนุกกับการเรียน ได้ฝึกอ่าน ได้ฝึกพูดเท่านั้น

สักพักผมเก็บบัตรคำมาถือไว้ บอกเด็กว่า ผมชอบพิซซ่า แล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า I like pizza. หลายๆเที่ยว ผมชูบัตรคำอีกครั้ง แล้วให้เด็กพูดว่าชอบอาหารหรือเครื่องดื่มตามบัตรคำที่ผมชู เด็กก็จะพูดพร้อมกัน
I like noodles. เมื่อผมชูบัตรคำ noodles
I like chicken. เมื่อผมชูบัตรคำ chicken
I like salad. เมื่อผมชูบัตรคำ salad
I like milk. เมื่อผมชูบัตรคำ milk
แต่พอผมจะสอนเรื่องการบอกความรู้สึกว่า ‘ไม่ชอบ’ หรือ I don’t like……… ความคิดหนึ่งก็วาบเข้ามาในสมองว่า “ทำไมเราไม่ให้เด็กทะเลาะกันล่ะ” คิดได้ดังนี้ ผมจึงเริ่มเทคนิคการสอนใหม่ ลองอ่านดูนะครับ

“คุณหนูครับ เมื่อก่อนผมมีเพื่อนรักกันมากอยู่คนหนึ่ง ไปไหนเราก็ไปกันตลอด เรียนหนังสือก็เรียนห้องเดียวกัน พักอยู่หอพักเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน แต่แล้ววันหนึ่งตอนกลางวันเราก็ไปโรงอาหารเพื่อจะหาอะไรทานกัน เพื่อนถามผมว่า นายจะกินอะไร ผมบอกว่าผมชอบข้าวผัด เพื่อนมันบอกว่า ผมไม่ชอบข้าวผัด ผมเลยบอกมันว่า ผมชอบก๋วยเตี๋ยว มันก็พูดว่า ผมไม่ชอบก๋วยเตี๋ยว ผมเริ่มงง แล้วผมก็บอกมันว่า ผมชอบขนมปังกับแยม มันก็พูดว่า ผมไม่ชอบขนมปังกับแยม ผมเริ่มโมโห เลยตะโกนดังๆว่า I like pizza.”
พอผมเล่ามาถึงตรงนี้เด็กๆเริ่มหัวเราะกัน ผมก็เล่าต่อว่า
“ผมคิดว่ามันเสร็จผมแน่ๆ เพราะผมพูดภาษาอังกฤษ คิดว่ามันพูดไม่ได้แน่ แต่แล้วผมก็สะดุ้ง เพราะเพื่อนมันพูดขึ้นมาดังๆ ไม่แพ้ผมว่า I don’t like pizza.”
ตอนนี้เด็กเฮกันลั่นห้อง คงสะใจที่เห็นผมแพ้เพื่อน
คราวนี้ผมเลยบอกกับเด็กๆว่า
“เอาใหม่ คราวนี้สมมติว่าพวกคุณเป็นเพื่อนผมคนนั้น ผมชอบอะไร คุณก็ไม่ชอบสิ่งนั้นนะ”
แล้วผมก็เริ่มบทเรียนของผมต่อไปโดยที่ผมพูดประโยคบอกเล่า เด็กๆก็จะพูดประโยคปฏิเสธ พูดไปได้สัก 4-5 ประโยค ผมก็บอกกับเด็กๆว่า
“พอก่อนๆ คราวนี้ผมขออาสาสมัคร 2 คน เป็นตัวแทนผมคนหนึ่ง กับเป็นตัวแทนเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง”
พอผมพูดจบ เด็กๆยกมือกันเต็มห้อง หวังจะให้ผมเลือกออกไปพูดหน้าห้อง ผมมองดูทั่วห้อง แล้วผมก็เรียก น้องดำ เด็กสาวสุดซ่าออกมาเป็นตัวแทนผม กับน้องอ๊าฟ เป็นตัวแทนเพื่อนผม
ผมชูบัตรคำให้น้องดำอ่าน น้องดำเริ่มพูดทันที

“I like fish.” แต่เสียงเบาไป ผมเลยบอกน้องดำว่า “ไม่ได้ยิน” น้องดำ พูดดังขึ้นอีก ผมก็บอกว่า ไม่ได้ยิน จนกระทั่งน้องดำตะโกนสุดเสียง ผมจึงหันไปที่น้องอ๊าฟ น้องอ๊าฟก็ตะโกนสุดเสียงไม่แพ้กันว่า “I don’t like fish.”
“I like rice and egg.” น้องดำตะโกนขึ้นมาอีก ถึงตอนนี้ น้องอ๊าฟเริ่มตะกุกตะกัก ผมจึงพูดขึ้นว่า
“เดี๋ยว…..หยุดก่อน รู้สึกว่าน้องอ๊าฟเริ่มจะสู้ไม่ไหวแล้ว งั้น…ขอตัวช่วยผู้ชายสัก 3-4 คนนะ”
เด็กผู้ชายสิบกว่าคนกรูกันออกมาอยู่ฝ่ายนายอ๊าฟ พอเด็กผู้หญิงเห็นตัวช่วยผู้ชายออกมาเยอะ ก็วิ่งกันออกมาบ้างหวังช่วยน้องดำไม่ให้แพ้พวกเด็กผู้ชาย

ตอนนี้ลักษณะที่ปรากฎคือกลุ่มเด็กผู้หญิงสิบกว่าคนหันหน้าเข้าหากลุ่มเด็กผู้ชายสิบกว่าคนเช่นกัน โดยมีผมยืนถือบัตรคำอยู่ที่โต๊ะเด็กแถวหน้า และเด็กอื่นๆอีกไม่กี่คนนั่งอยู่ที่โต๊ะของตน

ผมชูบัตรคำไปทางเด็กผู้หญิง เด็กผู้หญิงตะโกน I like apples. พร้อมกับกระเถิบไปข้างหน้า 1 ก้าว พอเด็กผู้หญิงพูดจบ เด็กผู้ชายก็ตะโกนว่า I don’t like apples. พร้อมกับกระเถิบไปข้างหน้า 1 ก้าวเช่นกัน พร้อมกับหัวเราะอย่างสนุกสนาน
ผมชูบัตรให้เด็กอ่านอีก 2 คำ ผมต้องรีบให้หยุด
“หยุด หยุด พอ พอ พอ ผมสงสัยว่า ถ้าผมให้คุณอ่านอีกคำ มีหวังคุณได้ชกกันแน่”
เด็กๆต่างหัวเราะกันอย่างมีความสุขแล้วพากันกลับเข้าไปนั่งที่

ผมเอาบัตรคำไปหนีบบนเชือกฟางที่ขึงไว้อีกครั้ง ให้เด็กอ่านพร้อมกัน จากนั้นผมเขียนตัวอย่างประโยคปฏิเสธ 1 ประโยค แล้วให้เด็กเขียนประโยคปฏิเสธแบบที่เด็กพูดลงสมุดคนละ 5 ประโยค แล้วนำมาส่งผม
ในขณะที่เด็กทำแบบฝึกหัดอยู่นั้น ผมอดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่า ผม สอนให้เด็กทะเลาะกัน นี่ มันตรงกับหลักการสอนของใครบ้างไหม ตรงกับทฤษฎีไหนบ้าง หรือว่าผมสอนผิดวิธี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็เข้าข้างตัวเองก่อนว่า เด็กเรียนอย่างมีความสุขนะ (ขอเข้าข้างตัวเองหน่อย…..อิอิอิ)

*********************************************************


มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์



---------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: