วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

จะเรียนภาษาอังกฤษไปทำไมนะ


จะเรียนภาษาอังกฤษไปทำไมนะ

ตั้งแต่บรรจุเป็นครูภาษาอังกฤษมา ปัญหาที่น่าหนักใจที่สุดคือ การที่ต้องสอนภาษาใหม่ให้แก่เด็กๆ ต้องสอนให้เขารู้ ให้เขา ฟังออก พูดได้ อ่านได้ เขียนได้ ตามวัยและตามวุฒิภาวะของเขา การสอนภาษานี้จะต้องมีเวลาให้เขา ต้องฝึกทักษะแต่ละด้านให้มากๆ และเด็กๆจะต้องใช้ความพยายามพอ สมควรทีเดียว
ข้ออ้างสำหรับเด็กที่ไม่ยอมรับรู้ และไม่ใส่ใจในการเรียนภาษาอังกฤษก็คือ “ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่สักหน่อย ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม” อืมมม…… ใช่นะ แต่ภาษาไทยที่เป็นภาษาของเราล่ะ และวิชาอื่นๆอีกล่ะ คุณเรียนได้ดีไหม
สอนเด็กทุกรุ่น สอนเด็กทุกปีก็จะพยายามพร่ำเตือนเด็กๆอยู่เสมอว่า “โลกในอนาคต ภาษาอังกฤษจะสำคัญมากนะ” แต่เด็กๆจะไม่ค่อยเชื่อเพราะคิดว่า “ก็คุณครูสอนภาษาอังกฤษนี่ คุณครูก็ต้องว่าภาษาอังกฤษสำคัญที่สุด คุณครูสอนวิชาไหน ก็ต้องบอกว่าวิชานั้นสำคัญเป็นธรรมดา”
หลายครั้งหลายหนที่ลูกศิษย์เก่าๆมาเยี่ยม ต่างก็มักจะพูดในทำนองเดียวกันว่า ได้ดีก็เพราะภาษาอังกฤษ หลายคนได้ทุน AFS ได้ไปต่างประเทศ หลายคนได้งานที่มั่นคงและเงินเดือนสูงเพราะภาษาอังกฤษดีกว่าคนอื่น บางคนก็บอกว่า “ตอนสอบเรียนต่อ วิชาอื่นๆคะแนนก็ใกล้เคียงกัน ไม่หนีกันเท่าไร แต่ที่ได้ก็เพราะได้คะแนนอังกฤษสูงกว่าคนอื่นๆ”
ก็ครูอังกฤษนี่นา จะพูดอะไรก็ต้องว่า ภาษาอังกฤษสำคัญอยู่นั่นแหละ อิอิอิ
เรามาลองอ่านข้อเขียนของ ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ในคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” ใน นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 มกราคม 2550 แล้วจะรู้ว่า ทำไมจึงต้องเรียนภาษาอังกฤษให้เก่ง

************************************************************
หลังจากที่ญี่ปุ่นปฏิรูปหลักสูตรครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2545 นิติภูมิมีโอกาสไปดูงานการศึกษาในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2547 และกลับไปอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2549 เพื่อศึกษาว่า เมื่อปฏิรูปปรับปรุงหลักสูตรแล้ว การศึกษาของญี่ปุ่นเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ในการปรับปรุงหลักสูตร รัฐบาลญี่ปุ่นเน้นวิชาภาษาอังกฤษ ก่อนหน้า พ.ศ.2545 เด็กโรงเรียนรัฐบาลเริ่มเรียนเขียนอ่านอังกฤษตอน ม.1 การเริ่มเรียนที่ช้า ทำให้คนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นตามหลักสูตรใหม่ก็คือ เยาวชนที่จบมัธยมต้นและปลายต้องสื่อสารภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ ส่วนคนที่จบมหาวิทยาลัย จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการประกอบอาชีพได้
รัฐบาลญี่ปุ่นเอาจริงขนาดเริ่มนโยบายใหม่ ด้วยการหนุนให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายได้ไปเรียนภาษาอังกฤษในต่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ใครที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็จะต้องสอบวิชาการฟังภาษาอังกฤษ เพราะถ้าไม่บรรจุวิชาสอบเอ็นทรานซ์ไว้อย่างนี้ เด็กก็จะไม่ ขวนขวายเพื่อฟังภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง
************************************************************
เป็นอย่างไรบ้างครับ นี่ขนาดประเทศที่ได้ชื่อว่า ประชาชนมีความเป็นชาตินิยมสูงนะครับ ยังมีความคิดขนาดนี้ แล้วเรายังจะคิดล้าหลังเขาอีกหรือครับ มาอ่านต่อนะครับ
************************************************************
สำคัญที่สุดก็คือ ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษซึ่งทั้งประเทศมี 6 หมื่นคน รัฐบาลพัฒนาครูภาษาเหล่านี้ด้วยการจัดหลักสูตรอบรมอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น ยังจัดงบประมาณจ้างผู้ชำนาญการภาษาอังกฤษมาช่วยสอนครูถึงในสถานศึกษา
พ.ศ.2546 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นออกกฎหมายให้ครูที่สอนเกิน 10 ปี จะต้องเข้ารับการฝึกอบรม + โรงเรียนยังต้องส่งครูไปฝึกงานในสถานที่ประกอบธุรกิจ ไม่ใช่ไปเพียงอุจจาระปัสสาวะแล้วก็กลับนะครับ แต่ไปฝึกระยะเวลายาว เพื่อให้ครูมีประสบการณ์ทางด้านสังคมด้วย
************************************************************
โอย…เห็นนโยบายของเขาแล้วน่าอิจฉาจัง สมมติว่าเราไปเป็นครูสอนภาอังกฤษที่นั่น เราจะทำได้อย่างที่เขาต้องการไหมนะ เอาอีกนิดดีกว่านะครับ
************************************************************
นักศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดครูหรือในวิทยาลัยครูก็เหมือนกัน แค่ความรู้ในระบบจากสถาบันการศึกษา ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพเป็นครูได้ ถ้านักศึกษาครูอยากได้ใบประกอบวิชาชีพครูประถมและมัธยมต้น จะต้องไปฝึกงานจากสถานสงเคราะห์ต่างๆเป็นระยะเวลานานพอสมควรเสียก่อน
************************************************************
ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ ทรัพยากรมนุษย์ ญี่ปุ่นรู้ซึ้งถึงสัจจธรรมข้อนี้ จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาคนในชาติของเขาให้เป็นคนที่มีคุณภาพ พัฒนาเป็นขั้นตอนตั้งแต่เด็กๆเลยทีเดียว แล้ววิชาอะไรล่ะที่ญี่ปุ่นเห็นว่าสำคัญที่สุดสำหรับคนในชาติของเขา
************************************************************


มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์

ไม่มีความคิดเห็น: