วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการหลอกเด็ก 6 : หลอกให้งง


เทคนิคการหลอกเด็ก (หลอกให้งง)

การทำงานในทุกวันนี้สำหรับผม ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความคิดทุกวัน ในชั่วโมงแรกๆของทุกวันมักจะว่าง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นวิชาภาษาไทยหรือไม่ก็คณิตศาสตร์ซึ่งทั้งสองวิชานี้ครูประจำชั้นจะเป็นผู้สอน
ตอนเช้าๆสมองมักจะปลอดโปร่ง ไม่ค่อยมีอะไรมารบกวนใจ จะคิดจะทำอะไรมักจะลื่นไหลตลอด
หลังจากเสร็จกิจกรรมหน้าเสาธง ผมจะไปประจำอยู่ที่โต๊ะทำงาน เปิดคอมพ์ เช็คอีเมล เปิดเฟซบุ๊คสักครู่ แล้วก็เข้าโฟลเดอร์หาไฟล์ Powerpoint เก่าที่สอนไปครั้งที่แล้ว และที่จะใช้สอนในสัปดาห์นี้ เช็คดูแต่ละกรอบว่าเนื้อหามีอะไรผิดพลาดบ้าง ตัวสะกด การันต์ คำศัพท์ถูกต้องไหม การดำเนินเนื้อหาสะดุดไหม เนื้อหามากไปหรือน้อยไปไหม คำอธิบายเหมาะสมไหม สมควรที่จะปรับเปลี่ยนอะไรไหม เหล่านี้เป็นต้น
เมื่อเดือนที่แล้วผมสอนหน่วยที่ 3 เรื่อง At School ซึ่งในหน่วยนี้จะพูดถึงเรื่องห้องและสถานที่ต่างๆในโรงเรียน ในขณะเดียวกันก็จะมีเนื้อหาให้เด็กอ่าน และฟังเสียงจากแผ่น CD ประกอบ ผมเช็คเนื้อหาที่จะสอนไปทีละกรอบ และในกรอบ Powerpoint กรอบหนึ่งผมได้พิมพ์เนื้อหาเพื่อให้เด็กฟังจากแผ่น CD และฝึกเด็กอ่านด้วย
และแล้ว.........ความคิดหนึ่งก็เข้ามาในสมองเหี่ยวๆของผม ผมรีบจัดการตกแต่ง แก้ไข เพิ่มเติม กรอบ Powerpoint นั้นทันที ท่านผู้อ่านลองดูความเพี้ยนของผมนะ























































              






             ผมฉายภาพขึ้นจอให้เด็กๆอ่านทีละประโยค เด็กก็อ่านไปเรื่อยๆ แต่พอจบประโยคสุดท้าย เด็กชายคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า “ครูครับ ผมงงครับ”
            “คุณงงอะไร” ผมพูดยิ้มๆเพราะผมดีใจที่ผมทดสอบเด็ก แล้วเด็กคนนี้ผ่านการทดสอบ
            “ก็ประโยคนี้บอกว่า She doesn’t like math. แต่รูปมันเป็นวิชาดนตรีนี่ครับ”
            เด็กคนอื่นๆเริ่มพิจารณาประโยคนี้กับรูปภาพ
            “ประโยคนี้ประโยคเดียวหรือครับ” ผมแกล้งถามเพื่อทดสอบการสังเกตและความเข้าใจในการอ่านของเด็ก เด็กคนอื่นๆต่างแย่งกันพูดขึ้นว่า “ไม่ครับ/ค่ะ มีประโยคอื่นด้วย” แสดงว่าเด็กหลายคนก็สังเกตเห็น แต่ไม่กล้าพูด
            “งั้น เดี๋ยวผมให้คุณอ่านอีกรอบนะ”
            พอฉายรอบ 2 แต่ละประโยคที่ขึ้นมากับภาพประกอบ เด็กๆรีบบอกว่า เนื้อเรื่องผิดจากรูป บางคนบอกให้เปลี่ยนเนื้อเรื่องบ้าง บางคนก็บอกให้เปลี่ยนรูป
            ผมกดปุ่มให้ประโยคที่ 2 ขึ้นมาพร้อมทั้งภาพประกอบ (She is reading an English book. แต่รูปภาพเป็นรูปคนนอนหลับกับกองหนังสือ) ผมถามว่าจะเปลี่ยนคำหรือรูปภาพ บางคนบอกเปลี่ยนคำเป็น sleeping บางคนบอกเปลี่ยนรูป
            ผมบอกว่า “ถ้าคุณเปลี่ยนคำในประโยคก็ต้องเปลี่ยนทุกประโยค ถ้าคุณเปลี่ยนรูปก็ต้องเปลี่ยนทุกรูป เพราะเนื้อเรื่องจะสัมพันธ์กัน”
            “สมมติว่า” ผมพูดต่อ “ในประโยคแรก” ผมกดปุ่มย้อนไปที่ประโยคแรก “ถ้าคุณเปลี่ยนคำเป็น Pim is in the toilet. แต่พอประโยคที่ 2 คุณบอกว่าเปลี่ยนคำเป็น She is sleeping. แสดงว่า คุณพิมพ์ ชอบไปนอนในห้องน้ำหรือครับ” เท่านั้นแหละ เด็กๆหัวเราะกันใหญ่แล้วตะโกนตอบว่า ให้เปลี่ยนรูป
            ผมฉายภาพซ้ำอีก 1 รอบ เด็กอ่านประโยค บอกความหมายแล้วก็บอกให้เปลี่ยนรูปว่าจะต้องเป็นรูปอะไร
            ผมใช้เทคนิคนี้กับอีก 4 ห้องที่เหลือ ผลก็ออกมาเป็นแบบเดียวกัน
            แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมให้ห้อง 3/1 ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในโครงการ 2 ภาษา ให้มาเรียนกับผมบ้าง ผมก็ใช้บทเรียนนี้สอนเด็กเช่นเดิม แต่ที่ต่างไปจากห้องอื่นๆคือ เพียงแค่ประโยคแรกขึ้นเท่านั้น น้องโบนัส คนเก่งประจำห้องก็โวยวายทันทีว่ารูปภาพผิดไปจากประโยคที่อ่าน ต้องเปลี่ยนรูปเป็นห้องสมุด เด็กคนอื่นๆก็รับกันเซ็งแซ่ไปหมด
            บางครั้งการที่ครูจะทดสอบเด็กว่าเข้าใจเรื่องที่อ่านไหม ไม่ใช่แค่เพียงถามคำถามจากเรื่องที่อ่าน หรือให้วาดรูปจากเรื่องที่อ่านเท่านั้น วิธีนี้ก็เป็นวิธีทดสอบนิ่มๆด้วยเช่นกัน ใช่ไหมครับ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
            จบตอนนี้แล้ว เทคนิคการหลอกเด็กชักจะหมดไส้หมดพุงแล้ว คงต้องขอเวลาไปรำลึกอดีต และคิดหาวิธีการใหม่ๆบ้าง ช่วงนี้ถ้าหายไปนานก็อย่าว่ากันนะครับ.....ขอบคุณครับที่ติดตามอ่านมาโดยตลอด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------


 มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์
 27 สิงหาคม 2555


ไม่มีความคิดเห็น: