วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการหลอกเด็ก 6 : หลอกให้งง


เทคนิคการหลอกเด็ก (หลอกให้งง)

การทำงานในทุกวันนี้สำหรับผม ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความคิดทุกวัน ในชั่วโมงแรกๆของทุกวันมักจะว่าง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นวิชาภาษาไทยหรือไม่ก็คณิตศาสตร์ซึ่งทั้งสองวิชานี้ครูประจำชั้นจะเป็นผู้สอน
ตอนเช้าๆสมองมักจะปลอดโปร่ง ไม่ค่อยมีอะไรมารบกวนใจ จะคิดจะทำอะไรมักจะลื่นไหลตลอด
หลังจากเสร็จกิจกรรมหน้าเสาธง ผมจะไปประจำอยู่ที่โต๊ะทำงาน เปิดคอมพ์ เช็คอีเมล เปิดเฟซบุ๊คสักครู่ แล้วก็เข้าโฟลเดอร์หาไฟล์ Powerpoint เก่าที่สอนไปครั้งที่แล้ว และที่จะใช้สอนในสัปดาห์นี้ เช็คดูแต่ละกรอบว่าเนื้อหามีอะไรผิดพลาดบ้าง ตัวสะกด การันต์ คำศัพท์ถูกต้องไหม การดำเนินเนื้อหาสะดุดไหม เนื้อหามากไปหรือน้อยไปไหม คำอธิบายเหมาะสมไหม สมควรที่จะปรับเปลี่ยนอะไรไหม เหล่านี้เป็นต้น
เมื่อเดือนที่แล้วผมสอนหน่วยที่ 3 เรื่อง At School ซึ่งในหน่วยนี้จะพูดถึงเรื่องห้องและสถานที่ต่างๆในโรงเรียน ในขณะเดียวกันก็จะมีเนื้อหาให้เด็กอ่าน และฟังเสียงจากแผ่น CD ประกอบ ผมเช็คเนื้อหาที่จะสอนไปทีละกรอบ และในกรอบ Powerpoint กรอบหนึ่งผมได้พิมพ์เนื้อหาเพื่อให้เด็กฟังจากแผ่น CD และฝึกเด็กอ่านด้วย
และแล้ว.........ความคิดหนึ่งก็เข้ามาในสมองเหี่ยวๆของผม ผมรีบจัดการตกแต่ง แก้ไข เพิ่มเติม กรอบ Powerpoint นั้นทันที ท่านผู้อ่านลองดูความเพี้ยนของผมนะ























































              






             ผมฉายภาพขึ้นจอให้เด็กๆอ่านทีละประโยค เด็กก็อ่านไปเรื่อยๆ แต่พอจบประโยคสุดท้าย เด็กชายคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า “ครูครับ ผมงงครับ”
            “คุณงงอะไร” ผมพูดยิ้มๆเพราะผมดีใจที่ผมทดสอบเด็ก แล้วเด็กคนนี้ผ่านการทดสอบ
            “ก็ประโยคนี้บอกว่า She doesn’t like math. แต่รูปมันเป็นวิชาดนตรีนี่ครับ”
            เด็กคนอื่นๆเริ่มพิจารณาประโยคนี้กับรูปภาพ
            “ประโยคนี้ประโยคเดียวหรือครับ” ผมแกล้งถามเพื่อทดสอบการสังเกตและความเข้าใจในการอ่านของเด็ก เด็กคนอื่นๆต่างแย่งกันพูดขึ้นว่า “ไม่ครับ/ค่ะ มีประโยคอื่นด้วย” แสดงว่าเด็กหลายคนก็สังเกตเห็น แต่ไม่กล้าพูด
            “งั้น เดี๋ยวผมให้คุณอ่านอีกรอบนะ”
            พอฉายรอบ 2 แต่ละประโยคที่ขึ้นมากับภาพประกอบ เด็กๆรีบบอกว่า เนื้อเรื่องผิดจากรูป บางคนบอกให้เปลี่ยนเนื้อเรื่องบ้าง บางคนก็บอกให้เปลี่ยนรูป
            ผมกดปุ่มให้ประโยคที่ 2 ขึ้นมาพร้อมทั้งภาพประกอบ (She is reading an English book. แต่รูปภาพเป็นรูปคนนอนหลับกับกองหนังสือ) ผมถามว่าจะเปลี่ยนคำหรือรูปภาพ บางคนบอกเปลี่ยนคำเป็น sleeping บางคนบอกเปลี่ยนรูป
            ผมบอกว่า “ถ้าคุณเปลี่ยนคำในประโยคก็ต้องเปลี่ยนทุกประโยค ถ้าคุณเปลี่ยนรูปก็ต้องเปลี่ยนทุกรูป เพราะเนื้อเรื่องจะสัมพันธ์กัน”
            “สมมติว่า” ผมพูดต่อ “ในประโยคแรก” ผมกดปุ่มย้อนไปที่ประโยคแรก “ถ้าคุณเปลี่ยนคำเป็น Pim is in the toilet. แต่พอประโยคที่ 2 คุณบอกว่าเปลี่ยนคำเป็น She is sleeping. แสดงว่า คุณพิมพ์ ชอบไปนอนในห้องน้ำหรือครับ” เท่านั้นแหละ เด็กๆหัวเราะกันใหญ่แล้วตะโกนตอบว่า ให้เปลี่ยนรูป
            ผมฉายภาพซ้ำอีก 1 รอบ เด็กอ่านประโยค บอกความหมายแล้วก็บอกให้เปลี่ยนรูปว่าจะต้องเป็นรูปอะไร
            ผมใช้เทคนิคนี้กับอีก 4 ห้องที่เหลือ ผลก็ออกมาเป็นแบบเดียวกัน
            แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมให้ห้อง 3/1 ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในโครงการ 2 ภาษา ให้มาเรียนกับผมบ้าง ผมก็ใช้บทเรียนนี้สอนเด็กเช่นเดิม แต่ที่ต่างไปจากห้องอื่นๆคือ เพียงแค่ประโยคแรกขึ้นเท่านั้น น้องโบนัส คนเก่งประจำห้องก็โวยวายทันทีว่ารูปภาพผิดไปจากประโยคที่อ่าน ต้องเปลี่ยนรูปเป็นห้องสมุด เด็กคนอื่นๆก็รับกันเซ็งแซ่ไปหมด
            บางครั้งการที่ครูจะทดสอบเด็กว่าเข้าใจเรื่องที่อ่านไหม ไม่ใช่แค่เพียงถามคำถามจากเรื่องที่อ่าน หรือให้วาดรูปจากเรื่องที่อ่านเท่านั้น วิธีนี้ก็เป็นวิธีทดสอบนิ่มๆด้วยเช่นกัน ใช่ไหมครับ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
            จบตอนนี้แล้ว เทคนิคการหลอกเด็กชักจะหมดไส้หมดพุงแล้ว คงต้องขอเวลาไปรำลึกอดีต และคิดหาวิธีการใหม่ๆบ้าง ช่วงนี้ถ้าหายไปนานก็อย่าว่ากันนะครับ.....ขอบคุณครับที่ติดตามอ่านมาโดยตลอด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------


 มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์
 27 สิงหาคม 2555


วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการหลอกเด็ก 5 : ส่องกระจก


เทคนิคการหลอกเด็ก 5  (ส่องกระจก)

มือ เป็นอวัยวะใกล้ตัว ที่เด็กต้องใช้ตลอดเวลาในการเรียน และครูประถมมักจะใช้มือเด็กเป็นที่รองรับไม้เรียวในการลงโทษเด็กเมื่อเด็กทำผิดเสมอ…..อิอิอิ
เมื่อ 20 กว่าปีก่อนผมก็เริ่มใช้มือและนิ้วมือสร้างสื่อการเรียนการสอนขึ้นมาชิ้นหนึ่ง และผมให้ชื่อว่า “หมอดูลายมือ” ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถหาดูได้จากบทความเก่าๆที่ผมได้ลงรูปไว้
ตอนที่ไปอบรมที่ EF International Language School เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย อาจารย์ Lindy ท่านก็สอนเทคนิคการใช้นิ้วมือในการตรวจคำตอบ ที่เรียกว่า Finger Correction ซึ่งผมก็ได้เขียนอธิบายเทคนิคนี้แล้วในครั้งก่อนๆ
พอกลับมาและได้สอนชั้น ป.3 ผมก็ต้องพยายามคิดหาวิธีการและเทคนิคต่างๆเพื่อจะให้เด็กมีหลักในการจำรูปแบบประโยคและโครงสร้างประโยคง่ายๆโดยที่สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด
นั่นคือ การใช้นิ้ว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
            “ส่อง.....กระจก” ผมพูดขึ้นดังๆในวันหนึ่ง ในขณะที่สอนเรื่องการถามจำนวนอวัยวะของสัตว์
            เด็กๆงงกับคำพูดของผม
            “ครูครับ มันคืออะไรครับ” เด็กชายขาว (ฉายาผมตั้งให้ เพราะเขามีผิวขาวใสๆ) ซึ่งเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนถามผมทันที
            “คุณก็หงายมือซ้ายขึ้นไง” ผมทำให้ดูแล้วเด็กๆพากันหงายมือซ้ายตามผม
            ผมใช้มือขวาจับนิ้วโป้มือซ้ายแล้วพูดว่า “How many” ผมให้เด็กๆทำตามพร้อมกับพูดไปด้วย
            ผมจับนิ้วชี้แล้วพูดว่า “อวัยวะ” เด็กๆก็ทำตามและพูดตาม
            ผมจับนิ้วกลางแล้วพูดว่า does
            ผมจับนิ้วนางแล้วพูดว่า “สัตว์”
            ผมจับนิ้วก้อยแล้วพูดว่า have
            เด็กๆก็ทำตามและพูดตามผมทุกอย่าง
            ผมทำอย่างนี้และให้เด็กทำตามอีก 2-3 เที่ยว แล้วฉายภาพขึ้นจอ



 







            แล้วผมก็อธิบายการใช้นิ้วในการสร้างคำถามเพื่อถามจำนวน แต่สิ่งที่ต้องย้ำคือ คำที่ตามหลัง How many จะต้องอยู่ในรูปพหูพจน์เสมอ จากนั้นผมก็ทดลองให้เด็กๆสร้างคำถามดังนี้
            ม้ามีกี่ขา
            ผมจับนิ้วโป้มือซ้ายแล้วพูดว่า “How many”    
ผมจับนิ้วชี้แล้วพูดว่า legs
            ผมจับนิ้วกลางแล้วพูดว่า does
            ผมจับนิ้วนางแล้วพูดว่า a horse
            ผมจับนิ้วก้อยแล้วพูดว่า have
            ผมให้เด็กทำซ้ำอีก 2-3 เทียว แล้วเริ่มประโยคใหม่
            ลิงมีกี่มือ
ตอนนี้ผมจับนิ้วอย่างเดียวแต่ไม่พูด ให้เด็กๆจับนิ้วทีละนิ้วแล้วพูดทีละคำตามนิ้วที่จับ
ผมให้งานเด็ก 5 ข้อ เพื่อเขียนลงสมุด แต่ก่อนที่จะให้เด็กเขียนผมฝึกเด็กๆใช้นิ้วก่อนจนครบ พอเห็นว่าเด็กเข้าใจดีแล้ว ก็ให้เขียนลงสมุด
อีก 2 สัปดาห์ต่อมาก่อนจบเนื้อหานี้ ผมจะให้งานเด็กโดยให้เด็กวาดรูปหรือหารูปสัตว์มาติดในใบงาน โดยมีภารกิจคือ จะต้องบอกชื่อสัตว์และอธิบายรูปร่างลักษณะของสัตว์ชนิดนั้นอย่างน้อย 3 ประโยค
ก่อนให้งาน ผมต้องสอนเด็กให้รู้จักรูปแบบโครงสร้างของประโยคก่อน แล้วผมก็นำเทคนิคการใช้นิ้วมาใช้ในเรื่องนี้อีก
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
            “ส่อง.....กระจก” ผมพูดขึ้นดังๆอีกครั้ง เด็กๆหงายมือซ้ายขึ้น แล้วพูดว่า “พรึ่บ”
            ผมรีบบอกว่า “เด็กๆ วันนี้ให้เปลี่ยนเป็นมือขวานะ” ผมหงายมือขวาขึ้น ใช้มือซ้ายจับนิ้วก้อยมือขวา แล้วพูดว่า สัตว์หรือ It  เด็กๆทำตามและพูดตาม
            จับนิ้วนาง has                  จับนิ้วกลาง “จำนวน”                  
จับนิ้วชี้ “ลักษณะ”           จับนิ้วโป้ “อวัยวะ”
ฝึกเด็ก 2-3 เที่ยว พอเห็นว่าเด็กพอจะได้แล้ว ก็ฉายภาพขึ้นจอ



 






             
            ผมใช้แสงเลเซอร์ยิงไปที่นิ้วแต่ละนิ้ว แล้วให้เด็กอ่าน จากนั้นก็ทำเหมือนเดิม คือยกตัวอย่างประโยคภาษาไทย แล้วให้เด็กๆช่วยกันแต่งประโยค
            ตอนที่ผมให้เด็กๆลงมือทำใบงานนั้น ผมสังเกตดูเด็กส่วนใหญ่ยังงงกับการเขียนบรรยายรูปร่างลักษณะของสัตว์อยู่  แต่มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เอามือจับนิ้วก้อยมือขวาแล้วดูบนจอภาพ แล้วก็เขียน “A dog” เอามือจับนิ้วนาง ดูจอภาพแล้วเขียน “has” แล้วก็ทำอย่างนี้จนจบประโยค จนได้ประโยค A dog has two small eyes.
พอเห็นว่าเธอเขียนจบประโยคแล้ว ผมบอกให้เด็กทุกคนวางปากกา แล้วยกตัวอย่างการคิด การใช้นิ้ว และการเขียนของเธอให้เด็กคนอื่นๆฟัง พร้อมกับกล่าวชื่นชมเธอ และให้เด็กลงมือทำงานต่อ
เทคนิคการใช้นิ้วประกอบการสอนคงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอีกต่อไปเพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อหาและรูปแบบในแต่ละเรื่อง ทั้งนี้แล้วแต่ว่าครูแต่ละท่านจะมีกลวิธีใดเพื่อนำให้เด็กๆไปสู่จุดหมายที่วางไว้

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------



 
มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์
26 สิงหาคม 2555

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการหลอกเด็ก 4

Hello. My name is Batman.

ดังที่เขียนไว้ในคราวที่แล้วว่าการสอนเด็กเล็กนั้น ต้องสอนแบบเรียนปนเล่นให้เขาได้สนุกกับการเรียน ให้เขาค่อยๆซึมซับภาษาอังกฤษอย่างไม่รู้ตัว แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับครูว่าจะมีเทคนิคและวิธีการอย่างไรในการโน้มน้าวให้พวกเขาอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆที่ครูได้เตรียมไว้ให้
การได้เล่นได้ร่วมกิจกรรม ได้ลงมือปฏิบัติหรือตั้งใจดูเพื่อนร่วมกิจกรรมเป็นสิ่งที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าจะทำให้เด็กๆจำได้ดีและจำได้นานยิ่งถ้ากิจกรรมนั้นสนุก ตื่นเต้น และท้าทายก็ยิ่งจะสร้างความประทับใจให้เด็กไปได้นานทีเดียว
ในหน่วยที่ 2 My New School ตามหนังสือเรียน New Say Hello ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ครูจะต้องสอนเรื่องการแนะนำตัว ชื่อห้องและสถานที่ต่างๆในโรงเรียน การถาม-ตอบ คำถามที่ขึ้นต้นด้วย Where และ Who และการใช้สรรพนามในการตอบคำถาม
หลังจากที่ผมสอนเรื่องการแนะนำตัว ชื่อห้องและสถานที่ต่างๆในโรงเรียนไปแล้ว
ชั่วโมงต่อมาผมต้องสอนเรื่อง Where ผมจึงสร้างตัวละครของผมขึ้นมาใหม่ ในการนี้ผมจะต้องแนะนำให้เด็กๆรู้จักกันก่อนเพื่อเด็กๆจะได้ไม่สับสน ผมจึงเอาชื่อตัวละครของผมขึ้นจอ
แล้วสอนให้เด็กอ่าน
Pim, Mary, Jane, Peter, Gollum, David, Batman, Spiderman, Obama และ Susan
จากนั้นผมสอนคำว่า Where พร้อมทั้งเขียนประโยคให้เด็กอ่าน
Where is Pim? Where is Mary? Where is Jane? Where is Peter? Where is Gollum?
Where is David? Where is Batman? Where is Spider Man? Where is Obama?
Where is Susan? Where are David and Jane? Where are Peter and Obama?
            ถึงตอนนี้ ผมขออาสาสมัคร ชาย 6 คน หญิง 4 คน  เด็กๆสงสัยว่า ผมขออาสาสมัครไปทำอะไร ผมไม่บอก ได้แต่พูดว่า “เอาน่า เดี๋ยวรู้เอง”  เด็กๆมองหน้ากัน แล้วก็ชวนกันออกมาตามจำนวนที่ผมขอ
            ผมชูบัตรชื่อตัวละครของผมให้เด็กๆอ่าน แล้วเอาไปติดที่กระเป๋าเสื้อเด็ก โดยใช้ลวดเสียบ แล้วเอาหน้ากากตัวละครตัวนั้นไปสวมให้เด็กทันที
            คงไม่ต้องบอกว่า ตอนนี้ในห้องเรียนฮือฮากันแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้ชายที่ได้เป็น Batman กับ Spider ต่างก็วาดลวดลาย ออกลีลาท่าทางกันน่าดู
            พอผมให้เด็กๆอยู่ในความสงบ ผมก็ให้ตัวละครแต่ละตัวกล่าวแนะนำตัวเองทันที
            Hello. My name is Batman.”             “Hi. I am Spiderman.”
            พอครบทุกคน ผมเอาบัตรคำชื่อห้องและสถานที่ต่างๆให้เด็กอ่าน แล้วให้ตัวละครแต่ละตัวถือไว้ แล้วผมพูดบรรยายว่า “Batman is in the toilet.” แล้วให้ Batman ไปนั่งที่ โดยยังไม่ต้องถอดหน้ากาก
บัตรคำใบต่อไปก็ให้เด็กอ่าน แล้วให้ตัวละครตัวอื่นถือไว้ แล้วให้เด็กช่วยกันบรรยาย “Peter is in the canteen.” แล้วให้เด็กไปนั่งที่เช่นเดิม
            ทำเช่นนี้จนครบทุกคน
            ขั้นต่อมาผมทบทวนคำถาม Where is……………? พร้อมทั้งสอนการตอบ He is in the …………………    She is in the ………………
ผมให้ตัวละครทุกตัวออกมาอีกครั้ง พร้อมกับชูบัตรสถานที่ไว้ที่หน้าอก แล้วถามเด็กๆว่า “Where is Batman?” เด็กๆมองไปที่ Batman แล้วอ่านบัตรคำที่หน้าอก แล้วพูดว่า He is in the toilet?” “ยอดเยี่ยม กระเทียมดองผมกล่าวชมเด็ก แล้วถามถึงตัวละครตัวอื่นๆต่อไปจนครบทุกคน
พอผมเห็นว่าเด็กเข้าใจกันดีแล้ว ผมก็จะให้อาสาสมัครเป็นคนถาม ให้เพื่อนๆในห้องช่วยกันตอบ
ขั้นสุดท้ายผมจะให้เด็กๆช่วยกันสรุปบทเรียน แล้วให้เขียนคำถามคำตอบคนละ 5 ข้อ ลงในสมุด
ในชั่วโมงต่อมา ผมสอนการถาม ตอบ โดยใช้ Who ผมก็ใช้กิจกรรมนี้อีก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปโดยเห็นได้ชัดคือ พอผมขออาสาสมัครเท่านั้นแหละ เด็กๆจะแย่งกันออกมาชุลมุนไปหมด 















-------------------------------------------------------------------------------------------------------------




มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์
8 สิงหาคม 2555