วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Finger Correction การใช้นิ้วตรวจงาน










Finger Correction






หลังจากกลับจากไปศึกษาอบรมที่ EF International Language Schools เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในวงการครูมักจะถามในทำนองเดียวกันว่า ไปอบรมครั้งนี้ได้อะไรมาเยอะไหม มีอะไรแปลกๆใหม่ๆ น่าสนใจมาแนะนำมาบ้างไหม
                ก็ขอถือโอกาสนี้แนะนำเทคนิคการตรวจงานโดยใช้นิ้วมือ ที่ได้มาจากการไปอบรมในครั้งนั้น ที่เรียกกันว่า Finger Correction ลองศึกษาดูนะครับ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อบกพร่องของนักเรียน ที่พบกันเป็นประจำคือ
-  คำที่หายไป (Word missing) : I’m going to bank.
-  ใช้คำผิด (Wrong Word) : I’m going shop.
-  เรียงคำผิดตำแหน่ง (Word Order) : I like very much coffee.
-  คำเกิน (Extra Word) : I’m going to shopping.
-  ผิดไวยากรณ์ (Tense Error) : I go to the bank yesterday.
ครูตรวจผลงานเด็กโดย แสดงการใช้นิ้วมือในการแก้ไขความถูกต้อง โดยที่
-         นิ้วมือ 1 นิ้วแทน 1 พยางค์ หรือ คำ
-         สามารถใช้ 1 นิ้วแทนหลายพยางค์หรือหลายคำ กรณีที่มีคำมากและไม่ได้แก้ไขที่คำเหล่านั้น

1. กรณีคำที่หายไป (Word Missing)
        I’m going to (the) bank. 

 
ครู เน้น ที่นิ้วชี้หลายครั้ง เพื่อกระตุ้นให้เด็กทราบและบอกคำที่หายไป

2. กรณีใช้คำผิด (Wrong Word)
     I’m going shop.

 







ครู เน้น ที่นิ้วชี้และนิ้วโป้เพื่อให้ทราบว่ามีคำที่ผิดและให้เด็กแก้คำที่ผิด

3. กรณีเรียงลำดับคำผิด (Word Order)
    I like very much coffee.


 









ครู(งอนิ้วก้อย) แล้วอ่าน I like very much coffee. ก่อน พอรอบสอง I like ครูชี้ที่นิ้วโป้ก่อน แล้วค่อยมาชี้เน้นที่นิ้วชี้ เพื่อให้เด็กทราบ

4. กรณีคำที่เกินมา (Extra Word)
      I’m going (to) shopping.

 





 
ครู เน้น เสียงคำว่า to ที่ระหว่างนิ้วกลางและนิ้วชี้ เพื่อให้เด็กทราบว่ามีคำเกินมา

5. กรณีผิดไวยากรณ์ (Tense Error)
    I go to the bank yesterday.


   









ครู เน้น ที่นิ้วนาง เพื่อบอกใบ้ให้เด็กทราบว่าผิดตรงนั้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
                เทคนิค Finger Correction ที่ได้นำเสนอนี้ ยังสามารถพลิกแพลงนำไปใช้ในการฝึกพูดให้กับเด็กๆในรูปแบบต่างๆได้อีกมากมาย  ผมลองนำไปใช้กับเด็ก ป.5 ซึ่งก็ใช้ได้ผลดี ในโอกาสนี้อยากให้เพื่อนครูและผู้ที่สนใจลองนำไปใช้บ้าง แล้วลองสังเกตดูว่าจะได้ผลตามที่ผมได้พูดไว้ไหม

 --------------------------------------------------------------------------------

 มณเฑียร  ฤกษ์วิสาข์
31 กรกฎาคม 2555






วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ICT กับภาษาอังกฤษ


ICT กับภาษาอังกฤษ
ICT มาจาก
- Information สารสนเทศ, สารนิเทศ, ในบางครั้งหมายถึงข้อมูล
- Communication การสื่อสาร
- Technology เทคโนโลยี
                นับตั้งแต่ ผอ.สถาพร  ศรีม่วง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครนายก ท่านมีนโยบายให้ ครูใช้ ICT ในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ท่านก็เร่งพัฒนาห้องพิเศษต่างๆ ให้มีความพร้อม ความสมบูรณ์เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน และที่จำเป็นต้องมีคือ เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมกับเครื่องฉาย Projector ประจำห้อง ซึ่งห้อง Sound Lab ของกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ก็ได้รับการติดตั้งเป็นห้องแรก
                เมื่อได้รับมาแล้ว ผมซึ่งเป็นผู้ดูแลห้อง Sound Lab ก็ต้องเร่งพัฒนาชิ้นงานเพื่อสนองตอบนโยบายของท่านผู้อำนวยการ โดยการใช้สื่อ ICT ที่ผลิตขึ้นในการสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กๆทุกชั่วโมง ในการนี้ได้ใช้โปรแกรม Powerpoint เพราะใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน สะดวกในการผลิต และเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโรงเรียนต่างก็มีโปรแกรมนี้แล้ว สามารถนำไปใช้ได้ทุกที่
                ในครั้งนี้ผมขอเสนอแนวคิดของตัวเองในการผลิตสื่อ ICT ที่ใช้อยู่ทุกวันให้ผู้อ่านได้พิจารณาว่า ผมมีหลักการและวิธีนำเสนออย่างไรบ้าง  ลองดูนะครับ
หลักในการจัดทำสื่อ ICT (Powerpoint)
1. ใช้ตัวการ์ตูน หรือรูปภาพบุคคลที่เด็กรู้จักมาเป็นตัวละครในการสอนบทสนทนาและเป็นตัวแทนครูในการอธิบายเนื้อหา
2. ใช้รูปภาพ การ์ตูนตลก หรือรูปภาพตลกประกอบการสอน
3. ใช้ภาพเคลื่อนไหวเพื่อให้บทเรียนน่าสนใจ ทิศทางการเคลื่อนที่ของรูปภาพ ต้องไม่ฝืนความเป็นจริง
4. มีการแปลงคำศัพท์เป็นรูปภาพหรือสัญลักษณ์ เพื่อเร้าความสนใจของเด็ก
5. ใช้ลูกศรช่วยในการอธิบายเนื้อหา หรือเพิ่มอารมณ์ขันให้บทเรียน
6. ใส่ความตลก ขบขัน ลงในบทพูด หรือใช้รูปภาพตลกประกอบ และใส่ชื่อเด็กที่มีอารมณ์ดีลงในตัวการ์ตูน
7. ใช้สีสันสดใสประกอบฉาก สี ขนาดและรูปแบบตัวอักษร ต้องดึงดูดความสนใจ อ่านง่าย สบายตา
8. การจัดองค์ประกอบในแต่ละฉาก ต้องไม่แน่น หรือหลวมเกินไป
9. ใช้กรอบข้อความเพื่อแบ่งส่วนของเนื้อหา
10. หารูปภาพที่ต้องการจาก www.google.com

สำหรับแนวทางในการใช้สื่อ ICT (Powerpoint) มีดังนี้     
1. ใช้สอนหรือทบทวนบทสนทนาก่อนเข้าเนื้อหาทุกครั้ง
2. ใช้ทบทวนคำศัพท์ เนื้อหาเก่าก่อนเข้าเนื้อหาใหม่ทุกครั้ง โดยใช้กิจกรรม
- อักษรอะไรหายไป รู้ไหม (ทดสอบการสะกดคำศัพท์)
- คำศัพท์ต่อไปนี้ มีตัวอะไรบ้าง จำได้ไหม (ทดสอบการสะกดคำศัพท์)
- การเทียบอักษร เพื่อเป็นหลักในการอ่าน
- คำศัพท์ต่อไปนี้ ยากนะ จะอ่านได้ไหม (ฝึก / ทดสอบการอ่าน)
- พอจะจำได้ไหม (ทดสอบและทบทวนการอ่าน ทดสอบและทบทวนคำศัพท์ ทดสอบและทบทวนหลักเกณฑ์ทางภาษา)
- ดูรูป แล้วพูดบอกความหมาย (ทดสอบและทบทวนการอ่าน ทดสอบและทบทวนคำศัพท์)
- จับคู่คำศัพท์กับความหมาย (ทดสอบและทบทวนคำศัพท์)
- จับคู่คำศัพท์กับคำอ่าน (ทดสอบและทบทวนการอ่าน)
- จับคู่คำศัพท์กับรูปภาพ (ทดสอบและทบทวนคำศัพท์)
3. การให้เด็กตอบพยายามอย่าให้เด็กเดาทางถูก พยายามหักมุมในด้านที่เด็กคาดไม่ถึง
4. จะต้องฝึกให้ครบทั้ง 4 ทักษะคือ ฟัง พูด อ่านและเขียน
5. จงพูดท้าทาย เพื่อเป็นการกระตุ้นและเร้าความสนใจของเด็ก
6. ให้เด็กมีโอกาสได้เคลื่อนไหว หรือออกท่าทาง
7. มีเกมหรือกิจกรรมง่ายๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดเพื่อหาคำตอบ
8. เปิดโอกาสให้เด็กได้ทาย เพื่อให้เขาได้ฝึกพูด และให้รางวัลเมื่อเขาตอบถูก
9. ก่อนเฉลยคำถาม หรือแบบฝึกหัด ต้องให้เด็กพูดตอบก่อนทุกครั้ง
10. มีแบบฝึกหัดแบบตัวเลือกพร้อมเฉลยทันที พร้อมทั้งเหตุผลประกอบ
11. การเลือกคำตอบจากจอ อาจให้เด็กใช้ไฟฉายแสงเลเซอร์ยิงไปที่จอได้ (เด็กเตรียมมาเองหรือครู
 เตรียมไว้หลายๆอันให้เด็กยืมใช้ก็ได้)
12. มีการเว้นช่องว่างเพื่อเติมคำ ให้เด็กทายคำศัพท์ก่อนหลายๆคน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกพูด ก่อนที่
 จะเฉลย  (ใครตอบถูกคนแรกจะได้รับรางวัล)
13. ในการให้การบ้านบางครั้ง ให้เด็กจดลงสมุดก่อนเข้าบทเรียน โดยต้องให้เวลาที่เหมาะสม
14. ในการฝึกการฟังเพื่อเติมคำลงในช่องว่าง ไม่ควรให้ฟังทีละข้อแล้วให้เด็กเติมคำ แต่ควรเปิดเสียง
ติดต่อกันหลายๆเที่ยว เพื่อเด็กจะได้มีสมาธิในการตั้งใจฟังมากขึ้น โปรแกรมที่ใช้ในการนี้คือ Jet Audio เพราะโปรแกรมนี้จะหมุนวนติดต่อกันเมื่อจบไฟล์เสียง
15. นำกรอบบทเรียนเก่ามาสอดแทรกเป็นระยะๆ เพื่อทบทวนความรู้เดิม

จากการสังเกตจะเห็นได้ชัดเจนว่าเด็กที่เรียนโดยใช้สื่อ ICT เด็กสามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้น จำเนื้อหาได้มากขึ้น เข้าใจบทเรียนดีขึ้น เรียนอย่างมีสมาธิ และที่สำคัญที่สุดคือ สนุกกับการเรียน แต่สำหรับเด็กบางคนล่ะ……….อืมมมม………..แค่อยากรู้ว่า ถ้าเทวดาเหาะจากฟ้าลงมาสอน เด็กกลุ่มนี้จะเรียนได้ดีไหม……เท่านั้น
………………………………………………………………
ตัวอย่าง กรอบบทเรียน สื่อ ICT (powerpoint)








 

















====================================================

 นายมณเฑียร  ฤกษ์วิสาข์
29 กรกฎาคม 2555






วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การจัดค่ายภาษาอังกฤษ (12)


การจัดค่ายภาษาอังกฤษ (12) 
                ตอนแรกคิดว่าจะเขียนเรื่องเทคนิคการสอนส่วนตัว แต่เกิดนึกขึ้นได้ว่าเรายังเก็บเอกสารเก่าๆเกี่ยวกับการจัดค่ายภาษาอังกฤษไว้ เลยไปรื้อดู อืมมมมมม....ได้มาก็หลายเล่มนะ เล่มละปี เปิดอ่านดูก็มีแต่เรื่องที่เขียนแล้วทั้งนั้น
                แต่พอเปิดดูปี 2007 หรือ 2550 ก็ได้เรื่องเลย เราลืมไปได้ยังไงนะ ช่วงนั้นจำได้ว่าอยากใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดกิจกรรมบ้าง เผอิญไปเปิดดูหนังสือภาษาอังกฤษของนักเรียนสองภาษา (EP) เห็นมีการสอนเรื่องการเขียนอีเมล์ เลยนำจุดนี้มาจัดกิจกรรม แล้วตั้งชื่อฐานว่า E-mail Writing ลองอ่านดูนะ
Station 5 : E-mail Writing
วิทยากรประจำฐาน : ครูกฤตยา  ชุมประเสริฐ
กิจกรรม
1.             แบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน
2.             ครูแจกใบความรู้เรื่องการเขียน E-mail
3.             ครูอธิบายแบบฟอร์มของ E-mail
4.             ให้นักเรียนอ่านข้อความใน E-mail แล้วสรุปเป็นภาษาไทย
5.             ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันเขียนตอบ E-mail
6.             ลอก E-mail ที่ช่วยกันเขียนลงในเอกสารของตน
7.             กลุ่มใดเขียนได้ดีที่สุดเป็นฝ่ายชนะ
อุปกรณ์
1.             ใบความรู้เรื่องการเขียน E-mail จำนวน 100 แผ่น
2.             ขนม 10 ถุง แจกรางวัลแก่ผู้ชนะกลุ่มละ 2 ถุง

   ใบความรู้
จากบนลงล่าง
        1.   Sender’s e-mail address
        2.   Receiver’s e-mail address
        3.   Subject of e-mail
        4.   Greeting
        5.   Opening paragraph
        6.    Mail message
        7.    Closing paragraph
        8.     Closing phrase
        9.     Sender’s name

 ข้อความใน e-mail ที่ให้เด็กอ่าน

















From : montien@anuban.com
To : Nicole@hotmail.com
Subject : My English Camp
                Hi, Nicole,
How are you? I just had a wonderful English Camp last week. There were many stations for us to join. They were singing and dancing station, doll dressing station, drawing and painting station, words collecting station and word finding station.
I liked word finding station because all the words were so small. I can’t read. Until I had a lense that the trainer gave us. I had so much fun with it.
Do you have English Camp in your school? I am waiting for your e-mail.
Your friend,
Montien

แบบฟอร์ม e-mail ที่ให้เด็กเขียน
















หมายเหตุ
                การจัดกิจกรรมฐานนี้ ไม่ได้ให้เด็กส่งอีเมล์จริงๆ แต่ให้เด็กเขียนลงในใบงาน ปกติแล้วฐานนี้เป็นเพียงฐานฝึกอ่านและฝึกเขียนธรรมดา แต่เพื่อล่อใจและดึงดูดใจเด็ก จึงตั้งชื่อฐานให้น่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็สอนให้เด็กรู้หลักในการเขียนอีเมล์ที่ถูกต้องด้วย

==============================================


มณเฑียร  ฤกษ์วิสาข์
23 กรกฎาคม 2555




วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการหลอกเด็ก 2


เทคนิคการหลอกเด็ก 2 (การอ่านประกอบลีลา)
                เด็ก ป.3 จะเป็นเด็กที่อยู่ในวัยที่ไม่ค่อยชอบอยู่นิ่ง อยากเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เด็กผู้หญิงนี่ไม่ค่อยเท่าไร แต่เด็กผู้ชายนี่สิ ชอบลุกจากที่ เพ่นพ่านไปทั่วห้อง ไม่ได้ไปดื้อไปซนที่ไหน ขอแต่เพียงได้ลุกจากที่ เดินไปโน่นไปนี่บ้างเท่านั้น
                ถ้าเราลองสังเกตดูจะเห็นว่า ถ้าครูขออาสาสมัครให้เด็กออกมาทำอะไรสักอย่าง จะมีเด็กอาสาออกมาเยอะมาก ที่ออกมาเพราะไม่อยากอยู่กับที่ อยากได้เคลื่อนไหวโดยที่ไม่ถูกครูดุเท่านั้น
                ในการสอนเด็กอ่านประโยคบนจอภาพ (ผมใช้ Powerpoint ฉายผ่านเครื่อง Projector) หรือแต่งประโยค ผมมักจะบอกเด็กว่า “เด็กๆ ใครคิดว่าอ่านได้ หรืออ่านพอได้ ให้ยืนขึ้น แล้วอ่านดังๆพร้อมๆกัน” เด็กๆที่อยากอ่านก็จะลุกขึ้น แล้วอ่านตามที่เราต้องการ
                ในการอ่านนี้ ผมมักจะให้เด็กอ่านหรือแต่งประโยคครั้งละ 1 ประโยค แล้วให้นั่งลง แล้วก็พูดแบบเดิมในประโยคต่อๆไป ในข้อแรกส่วนมากเด็กที่อ่านจะมีน้อย แต่พอข้อที่ 2 และข้อต่อๆไป จำนวนเด็กที่อ่านจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรูปแบบประโยคสำหรับเด็กในชั้นนี้จะไม่ซับซ้อน ส่วนมากจะเป็นประโยคที่เลียนแบบกันไปมา จะเปลี่ยนแค่คำศัพท์บางคำเท่านั้น
                วันหนึ่งผมสอนเรื่องการถามความรู้สึกว่า “คุณชอบ...........ไหม” ผมแกล้งถามเด็กว่า “เด็กๆครับ เดี๋ยวครูจะให้แต่งประโยคเป็นภาษาอังกฤษ ใครคิดว่าแน่ อ่านได้ ให้ยืนขึ้น” เด็กที่เก่งจะยืนขึ้น 4 - 5 คน ผมก็แกล้งนับว่า “แถวด้านซ้ายมีคนเดียว แถวด้านขวามี 4 คน”  (พูดถึงตรงนี้เพียงอยากจะบอกว่า เด็กแต่ละแถวไม่อยากเป็นผู้แพ้ อยากเป็นผู้ชนะ อยากมีส่วนร่วมทำให้กลุ่มของตนชนะซึ่งจะมีผลในการอ่านข้อต่อๆไป)
                ผมฉายภาพขึ้นจอว่า “มาฝีกถามกันดีกว่า.....ยากนะ”  คำว่า “ยากนะ” จะเป็นการท้าทายเด็ก ทำให้เด็กอยากเอาชนะ ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วผมบอกเด็กว่า “ก่อนอ่านให้เอามือดึงหู 2 ข้าง แล้วอ่านพร้อมๆกัน” แล้วผมก็ฉายภาพขึ้นจอ
“คุณชอบไก่ทอดไหม” เด็กๆจะดึงหูตนเองแล้วแต่งประโยคแบบยิ้มๆว่า “Do you like fried chicken?” แล้วผมก็ฉายคำเฉลยขึ้นจอ
เด็กคนอื่นๆ พอได้ยินเพื่อนๆแต่งประโยค และเห็นคำเฉลยบนจอ ก็จะเกิดความมั่นใจมากขึ้น พอผมบอกว่า “ข้อต่อไปใครจะอ่านลุกขึ้น” เท่านั้นแหละ เด็กๆจะลุกขึ้นยืนเกือบหมดห้อง แล้วผมก็บอกว่า “ทุกคนให้หันหน้าไปด้านขวา ก้าวเท้าซ้ายครึ่งก้าว กอดอก ก้มหน้านิดๆ แล้วหันหน้าไปที่จอ”
“คุณชอบไข่ดาวไหม” เด็กๆจะพูดว่า “Do you like fried eggs?” แล้วยิ้ม พูดแต่งประโยคด้วยความสนุก
คราวนี้เด็กๆ จะไม่ยอมนั่งกันแล้ว ผมก็แกล้งถามว่า “พวกคุณจะเหมากันหมดทุกข้อเลยหรือ” เด็กๆจะตอบว่า “ใช่ครับ / ค่ะ”
ในข้อต่อๆไปผมก็จะให้เด็กทำท่าประกอบการแต่งประโยคดังนี้
1.             ยกมือซ้ายกอดอก มือขวาใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้ทำเป็นรูปตัววี วางไว้ใต้คาง
2.             เอานิ้วบีบจมูก
3.             เอานิ้วเขย่าคอ
4.             เอามือปิดหู
5.             เอามือเท้าเอว แล้วส่ายเอวแบบเต้นฮูลาฮูพ
6.             เอามือจับไหล่ 2 ข้างแล้วหมุนไหล่
7.             เอามือจับเข่าแล้วโยกเข่า
8.             ยืนบนปลายเท้า แล้วเขย่ง
                           ฯลฯ











                


                ในแต่ละข้อที่เด็กแต่งประโยค เด็กจะพูดด้วยความสนุกสนาน ในขณะเดียวกันก็จะได้เคลื่อนไหวร่างกายตามที่พวกเขาต้องการ
                แต่ละห้องที่สอน พอถามเด็กๆว่าชอบท่าไหนมากที่สุด เด็กๆส่วนใหญ่จะตอบว่า ชอบท่าเขย่ง ท่าเต้นฮูลาฮูพ และท่าเขย่าคอ
                ครูอย่างเราๆ จะมีความสุขที่สุดก็ตอนที่เด็กๆชอบกิจกรรมที่เราจัดให้ และร่วมกิจกรรมด้วยความสนุก ได้เรียนรู้แบบไม่รู้ตัว
                เทคนิคนี้คิดว่าใช้ได้เฉพาะเด็กเล็ก ถ้าเป็นเด็กโต คงต้องหาเทคนิคแปลกๆ ใหม่ๆเพื่อให้เขาได้เรียนรู้อย่างสนุก ตามแบบที่เขาต้องการ
                เพื่อนๆที่อ่านแล้วมีความเห็นอย่างไร เขียนวิจารณ์กันบ้างนะ อย่างน้อยลงชื่อทิ้งไว้บ้างก็ยังดี เพื่อจะได้รู้ว่าบทความที่เขียนนี้ก็มีคนอ่าน จะได้เป็นกำลังใจในการเขียนครั้งต่อๆไป


================================================
                                         
 มณเฑียร  ฤกษ์วิสาข์
25 กรกฎาคม 2555