วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สิงห์เลเซอร์

สิงห์เลเซอร์


ตั้งแต่ลงมาสอนชั้น ป.3 มักจะมีเพื่อนๆ และคนที่คุ้นเคยถามกันมากว่า
“เป็นไงมั่ง เทียน สอน ป.3 เหนื่อยไหม หนักใจไหม”
หรือไม่ก็ “เทียน เด็กป.3 ดื้อไหม”
บางคนก็ถามว่า “ป.3 กับ ป.6 ชั้นไหนสอนยากกว่ากัน” ฯลฯ
ผมก็จะตอบตามความรู้สึกที่แท้จริงว่า “เพิ่งค้นพบความสุขที่แท้จริงเดี๋ยวนี้เองว่า มีความสุขที่สุดกับการสอนเด็กชั้น ป.3 เมื่อก่อนหลงคิดว่าสอน ป.6 มีความสุขแล้ว รู้ไหมว่าเด็กป.3 น่ะ เวลาคิดกิจกรรมต่างๆให้เขาเล่น เขาจะเล่นอย่างสนุกอย่างเต็มที่ ไม่มีการอายกันเลย ไม่เหมือนเด็ก ป.6 เพราะเขาเริ่มโตเป็นหนุ่มสาวกันแล้ว บางกิจกรรมก็ไม่ค่อยเต็มใจอยากเล่นด้วย”

การที่จะทำให้การเรียนการสอนสนุก ไม่น่าเบื่อหน่ายนั้น ผมมักจะคิดว่า ถ้าผมเป็นเด็กแล้วผมต้องการอะไร ผมชอบอะไร ผมอยากทำอะไร แล้วผมก็จะคิดกิจกรรมนั้นขึ้นมา และที่สำคัญที่สุด กิจกรรมนั้น เด็กต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ครู
และในการสอนทุกๆครั้ง ผมต้องให้เด็กได้ปฏิบัติให้ครบทักษะทั้ง 4 ด้านคือ ฟัง พูด อ่าน และเขียน แต่ระยะหลังนี้จะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ทำให้การฝึกเด็กทำได้อย่างไม่สมบูรณ์นัก แต่ผมก็พยายามทำอย่างดีที่สุด
ในการสอนแต่ละหน่วยการเรียนนั้น ผมต้องพยายามคิดหากิจกรรมใหม่ๆมาให้เด็กร่วมสนุกเสมอ เพื่อกระตุ้นให้เขาสนใจเรียน สนุกกับบทเรียน ทำให้บทเรียนไม่น่าเบื่อ และมีความสุขกับการเรียน
อย่างที่เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังไว้เมื่อฉบับก่อนๆว่า ผมชอบไปเดินเล่นตามตลาดนัด หรือแผนกของเด็กเล่นตามห้างใหญ่ๆเพื่อหาแนวคิดในการทำสื่อการเรียนการสอน
แต่ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ใกล้แค่ปลายจมูกที่คนอื่นๆมองข้าม แต่ให้แนวคิดในการผลิตสื่อการสอนและการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลายที่นึกไม่ถึงทีเดียว สถานที่แห่งนั้นคือ ร้านขายขนมและของเด็กเล่นหน้าโรงเรียน
ร้านนี้ เป็นร้านรถเข็นเล็กๆ ที่ขายขนมขบเคี้ยว และของเด็กเล่น ทุกๆเย็นจะมาขายอยู่หน้าโรงเรียน และที่ร้านนี้เอง ผมมักจะเดินมาดูของเล่นใหม่ๆเสมอๆ
แล้วผมก็ได้ของเล่นไปหลอกเด็กจากร้านนี้ในวันหนึ่ง

**************************************
“นักเรียนเตรียม นักเรียนทำความเคารพ” เสียงหัวหน้าห้อง ป.3/6 ร้องบอกเพื่อนๆในห้องให้ทำความเคารพผม เมื่อผมก้าวเท้าเข้าห้อง
“สวัสดีครับ / ค่ะ คุณครู” เสียงเด็กกล่าวทักทายผมพร้อมๆกัน
“สวัสดีครับ” ผมกล่าวทักทายตามปกติ
วันนี้ผมขึ้นบทเรียนใหม่ เป็นเรื่องของสุขบัญญัติ 7 ประการ หรือ Seven Rules of Good Health. ผมเริ่มจากชูบัตรภาพแล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษ brush my teeth แล้วให้เด็กๆพูดตามพร้อมกับทำท่าทางประกอบ
ผมสอนจนครบ 7 คำ แล้วผมก็วางบัตรภาพทั้ง 7 ลงบนร่องกระดานดำ แล้วเดินไปหลังห้อง
“วันนี้ผมขอท้าดวลปืน เหมือนที่คาวบอยดวลกัน ใครจะดวลกับผมบ้าง”
“ดวลยังไงครับ” เด็กคนหนึ่งถาม
“ขออาสาสมัครคนหนึ่งเป็นคนกรรมการ กรรมการจะต้องพูดคำศัพท์ตามรูป 1 คำ พอพูดจบ ผมกับผู้ท้าดวลจะต้องทำมือเป็นปืน แล้วยิงไปที่รูปที่กรรมการพูด ใครยิงได้ไวกว่า และถูกต้องเป็นฝ่ายชนะ เอ้า…..ใครจะเป็นกรรมการ และใครจะดวลกับผม”
เด็กๆยกมือกันพร้อมกับตะโกนว่า “ผมครับ ผมครับ”
ผมให้น้องมาร์คใหญ่เป็นกรรมการ และให้น้องเฟิร์สท์มาดวลกับผม
พอน้องเฟิร์สท์มาหลังห้องคู่กับผม ผมให้สัญญาณให้น้องมาร์คใหญ่ที่เป็นกรรมการพูดคำศัพท์ 1 คำ แล้วผมก็ล้วงมือลงในกระเป๋ากางเกง
“take a bath”
น้องมาร์คใหญ่พูดจบ น้องเฟิร์สท์ทำมือเป็นปืนเล็งไปที่บัตรภาพคนกำลังอาบน้ำ แล้วพูดว่า “เปรี้ยง เปรี้ยง”
ขณะเดียวกันผมล้วงไฟฉายแสงเลเซอร์ออกมา แล้วกดปุ่มยิงไปที่รูปคนกำลังอาบน้ำ จุดสีแดงปรากฏที่รูป แล้วผมพูดว่า “ผมชนะ นี่ไงเห็นไหมผมมีหลักฐาน คุณยิงไม่ถูก” ผมยิ้ม เด็กคนอื่นๆหัวเราะกันเกรียว
“คุณครูขี้โกง”
“ผมโกงยังไง”
“คุณครูมีแสงเลเซอร์ ผมไม่มี”
“ถ้าคุณมีแสงเลเซอร์ คุณคิดว่าคุณชนะผมเหรอ”
“ครับ”
“เอ้า…..ผมให้ยืม” ว่าแล้วผมก็ยื่นไฟฉายแสงเลเซอร์ให้น้องเฟิร์สท์ 1 อัน แล้วบอกให้น้องมาร์คใหญ่ที่เป็นกรรมการพูดคำศัพท์อีก 1 คำ
“wash my hands”
สิ้นเสียงน้องมาร์คใหญ่ ผมกับน้องเฟิร์สท์รีบกดปุ่มยิงไปที่รูปทันที
“ผมชนะอีกแล้ว” ผมพูดเพราะน้องเฟิร์สท์ยิงไม่ตรงรูป
“เอ้า……ตอนนี้ใครจะท้าดวลกับผมอีก” ผมถามเด็กอีกคราวนี้เด็กยกมือกันสลอนพร้อมกับตะโกนว่า “ผมครับ ผมครับ หนูค่ะ หนูค่ะ” เสียงแซดไปหมด
ผมให้เด็กเล่นกันอีก 5-6 คู่ ก็เขียนคำศัพท์บนกระดานแล้วให้เด็กอ่าน จากนั้นก็ให้เขียนลงสมุด
ผมใช้กิจกรรมนี้กับอีก 3 ห้องที่เหลือ เด็กๆสนุกกันมาก พร้อมๆกับไฟฉายแสงเลเซอร์หมดไปจากร้านขายขนมร้านนี้


**************************************

มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์





-------------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สอนให้เด็กทะเลาะกัน

สอนให้เด็กทะเลาะกัน

ทันทีที่ผมก้าวเท้าเข้าห้อง ป.3/……. เสียงนักเรียนหัวหน้าห้องดังขึ้นทันที
“Stand up, please.” แล้วนักเรียนทุกคนก็พูดพร้อมกันเหมือนทุกครั้งที่ผมเข้าห้องสอนคือ
“Good morning, teacher. How are you?”
บทสนทนาทักทายกันบทนี้ผมพูดมาตั้งแต่ผมเริ่มเรียนภาษาอังกฤษแล้ว แต่วันนี้ผมนึกสนุกขึ้นมาจึงพูดกับเด็กว่า
“เดี๋ยวๆ วันนี้ผมจะพูดแบบในหนังเรื่อง ‘แฟนฉัน’ นะ”
ว่าแล้วผมก็จีบปากจีบคอพูด แล้วก็ทำหน้าตาเหมือนครูภาษาอังกฤษในหนังว่า
“Good morning, students. I’m fine, thank you. And you?”
เด็กทุกคนในห้องหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน แล้วก็รีบตอบผมทันที
“I’m fine, too. Thank you.”
“Sit,” ผมเว้นช่วงนิดหนึ่งลอยหน้าลอยตา แล้วพูดต่อ “Down.”
เด็กๆพากันอมยิ้มเมื่อผมใช้ลูกเล่นแบบที่เคยเห็นในภาพยนตร์

*************************************************************
วันนี้สิ่งที่ผมเตรียมมาสอนเด็กคือ การบอกความรู้สึก ‘ไม่ชอบ’ ซึ่งในบทนี้จะเกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ
ผมเริ่มต้นทบทวนคำศัพท์โดยที่ผมชูบัตรคำชื่ออาหารและเครื่องดื่มให้เด็กอ่านทีละใบ โดยให้เด็กอ่านพร้อมกันทั้งห้อง พอหมดชุดก็ให้อ่านทีละกลุ่ม จากนั้นจึงชูบัตรให้อาสาสมัครอ่านทีละคน

ผมขึงเชือกฟางกับตะปูเล็กๆที่ตอกไว้ด้านข้างกระดานดำทั้งสองด้าน ให้เด็กอ่านบัตรคำอีกครั้ง แล้วนำบัตรคำไปห้อยติดกับเชือกโดยใช้ที่หนีบผ้าที่เตรียมมาหนีบไว้จนหมดทุกคำ

คราวนี้ผมหยิบไม้ชี้กระดานขึ้นมา บอกกับเด็กๆว่าขออาสาสมัครมาอ่านคำศัพท์ที่ห้อยไว้ คนละ 1 คำ จะเป็นคำใดก็ได้ อ่านคำไหนให้ชี้คำนั้น แล้วให้เพื่อนๆอ่านตาม
เด็กสิบกว่าคนกรูกันออกมาหยิบไม้ ชี้คำศัพท์ แล้วอ่านคำศัพท์กันอย่างสนุกสนาน บางคนก็ออกมาหลายเที่ยว เด็กที่ขี้อายผมก็จะเรียกออกมาให้อ่านด้วย โดยหวังแต่เพียงว่าให้เขาได้สนุกกับการเรียน ได้ฝึกอ่าน ได้ฝึกพูดเท่านั้น

สักพักผมเก็บบัตรคำมาถือไว้ บอกเด็กว่า ผมชอบพิซซ่า แล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า I like pizza. หลายๆเที่ยว ผมชูบัตรคำอีกครั้ง แล้วให้เด็กพูดว่าชอบอาหารหรือเครื่องดื่มตามบัตรคำที่ผมชู เด็กก็จะพูดพร้อมกัน
I like noodles. เมื่อผมชูบัตรคำ noodles
I like chicken. เมื่อผมชูบัตรคำ chicken
I like salad. เมื่อผมชูบัตรคำ salad
I like milk. เมื่อผมชูบัตรคำ milk
แต่พอผมจะสอนเรื่องการบอกความรู้สึกว่า ‘ไม่ชอบ’ หรือ I don’t like……… ความคิดหนึ่งก็วาบเข้ามาในสมองว่า “ทำไมเราไม่ให้เด็กทะเลาะกันล่ะ” คิดได้ดังนี้ ผมจึงเริ่มเทคนิคการสอนใหม่ ลองอ่านดูนะครับ

“คุณหนูครับ เมื่อก่อนผมมีเพื่อนรักกันมากอยู่คนหนึ่ง ไปไหนเราก็ไปกันตลอด เรียนหนังสือก็เรียนห้องเดียวกัน พักอยู่หอพักเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน แต่แล้ววันหนึ่งตอนกลางวันเราก็ไปโรงอาหารเพื่อจะหาอะไรทานกัน เพื่อนถามผมว่า นายจะกินอะไร ผมบอกว่าผมชอบข้าวผัด เพื่อนมันบอกว่า ผมไม่ชอบข้าวผัด ผมเลยบอกมันว่า ผมชอบก๋วยเตี๋ยว มันก็พูดว่า ผมไม่ชอบก๋วยเตี๋ยว ผมเริ่มงง แล้วผมก็บอกมันว่า ผมชอบขนมปังกับแยม มันก็พูดว่า ผมไม่ชอบขนมปังกับแยม ผมเริ่มโมโห เลยตะโกนดังๆว่า I like pizza.”
พอผมเล่ามาถึงตรงนี้เด็กๆเริ่มหัวเราะกัน ผมก็เล่าต่อว่า
“ผมคิดว่ามันเสร็จผมแน่ๆ เพราะผมพูดภาษาอังกฤษ คิดว่ามันพูดไม่ได้แน่ แต่แล้วผมก็สะดุ้ง เพราะเพื่อนมันพูดขึ้นมาดังๆ ไม่แพ้ผมว่า I don’t like pizza.”
ตอนนี้เด็กเฮกันลั่นห้อง คงสะใจที่เห็นผมแพ้เพื่อน
คราวนี้ผมเลยบอกกับเด็กๆว่า
“เอาใหม่ คราวนี้สมมติว่าพวกคุณเป็นเพื่อนผมคนนั้น ผมชอบอะไร คุณก็ไม่ชอบสิ่งนั้นนะ”
แล้วผมก็เริ่มบทเรียนของผมต่อไปโดยที่ผมพูดประโยคบอกเล่า เด็กๆก็จะพูดประโยคปฏิเสธ พูดไปได้สัก 4-5 ประโยค ผมก็บอกกับเด็กๆว่า
“พอก่อนๆ คราวนี้ผมขออาสาสมัคร 2 คน เป็นตัวแทนผมคนหนึ่ง กับเป็นตัวแทนเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง”
พอผมพูดจบ เด็กๆยกมือกันเต็มห้อง หวังจะให้ผมเลือกออกไปพูดหน้าห้อง ผมมองดูทั่วห้อง แล้วผมก็เรียก น้องดำ เด็กสาวสุดซ่าออกมาเป็นตัวแทนผม กับน้องอ๊าฟ เป็นตัวแทนเพื่อนผม
ผมชูบัตรคำให้น้องดำอ่าน น้องดำเริ่มพูดทันที

“I like fish.” แต่เสียงเบาไป ผมเลยบอกน้องดำว่า “ไม่ได้ยิน” น้องดำ พูดดังขึ้นอีก ผมก็บอกว่า ไม่ได้ยิน จนกระทั่งน้องดำตะโกนสุดเสียง ผมจึงหันไปที่น้องอ๊าฟ น้องอ๊าฟก็ตะโกนสุดเสียงไม่แพ้กันว่า “I don’t like fish.”
“I like rice and egg.” น้องดำตะโกนขึ้นมาอีก ถึงตอนนี้ น้องอ๊าฟเริ่มตะกุกตะกัก ผมจึงพูดขึ้นว่า
“เดี๋ยว…..หยุดก่อน รู้สึกว่าน้องอ๊าฟเริ่มจะสู้ไม่ไหวแล้ว งั้น…ขอตัวช่วยผู้ชายสัก 3-4 คนนะ”
เด็กผู้ชายสิบกว่าคนกรูกันออกมาอยู่ฝ่ายนายอ๊าฟ พอเด็กผู้หญิงเห็นตัวช่วยผู้ชายออกมาเยอะ ก็วิ่งกันออกมาบ้างหวังช่วยน้องดำไม่ให้แพ้พวกเด็กผู้ชาย

ตอนนี้ลักษณะที่ปรากฎคือกลุ่มเด็กผู้หญิงสิบกว่าคนหันหน้าเข้าหากลุ่มเด็กผู้ชายสิบกว่าคนเช่นกัน โดยมีผมยืนถือบัตรคำอยู่ที่โต๊ะเด็กแถวหน้า และเด็กอื่นๆอีกไม่กี่คนนั่งอยู่ที่โต๊ะของตน

ผมชูบัตรคำไปทางเด็กผู้หญิง เด็กผู้หญิงตะโกน I like apples. พร้อมกับกระเถิบไปข้างหน้า 1 ก้าว พอเด็กผู้หญิงพูดจบ เด็กผู้ชายก็ตะโกนว่า I don’t like apples. พร้อมกับกระเถิบไปข้างหน้า 1 ก้าวเช่นกัน พร้อมกับหัวเราะอย่างสนุกสนาน
ผมชูบัตรให้เด็กอ่านอีก 2 คำ ผมต้องรีบให้หยุด
“หยุด หยุด พอ พอ พอ ผมสงสัยว่า ถ้าผมให้คุณอ่านอีกคำ มีหวังคุณได้ชกกันแน่”
เด็กๆต่างหัวเราะกันอย่างมีความสุขแล้วพากันกลับเข้าไปนั่งที่

ผมเอาบัตรคำไปหนีบบนเชือกฟางที่ขึงไว้อีกครั้ง ให้เด็กอ่านพร้อมกัน จากนั้นผมเขียนตัวอย่างประโยคปฏิเสธ 1 ประโยค แล้วให้เด็กเขียนประโยคปฏิเสธแบบที่เด็กพูดลงสมุดคนละ 5 ประโยค แล้วนำมาส่งผม
ในขณะที่เด็กทำแบบฝึกหัดอยู่นั้น ผมอดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่า ผม สอนให้เด็กทะเลาะกัน นี่ มันตรงกับหลักการสอนของใครบ้างไหม ตรงกับทฤษฎีไหนบ้าง หรือว่าผมสอนผิดวิธี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็เข้าข้างตัวเองก่อนว่า เด็กเรียนอย่างมีความสุขนะ (ขอเข้าข้างตัวเองหน่อย…..อิอิอิ)

*********************************************************


มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์



---------------------------------------------------------------------

เรียนภาษาอังกฤษจากเสื้อยืด



เรียนภาษาอังกฤษจากเสื้อยืด

ปกติแล้วผมเป็นคนชอบเดินดูของตามตลาดนัดต่างๆ ถ้าวันไหนมีตลาดนัดเป็นต้องพบผมที่นั่นตลอด ขอเพียงแค่ได้เดินดูสินค้าต่างๆที่เขานำมาขายผมก็มีความสุขแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้ซื้อก็ตาม

แต่ถ้าเป็นสมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ยุคนั้นบ้านเรายังไม่มีตลาดนัด ผมชอบไปเดินดูของตามห้างต่างๆในกรุงเทพฯ โซนที่ผมชอบไปเดินดูมากที่สุดก็คือ โซนดนตรี เพราะผมชอบเล่นดนตรี และชอบศึกษาเครื่องดนตรีรุ่นใหม่ๆ เพื่อมาแนะนำให้ผู้ปกครองและเด็กๆที่ต้องการซื้อเครื่องดนตรีได้ทราบถึงคุณสมบัติของเครื่องดนตรีแต่ละรุ่น จะได้เลือกซื้อได้ถูกต้องตามความต้องการและงบประมาณในกระเป๋า

อีกโซนหนึ่งที่ผมชอบไปเดินดูคือ โซนของเล่นเด็ก เพราะในโซนนี้จะมีของเล่นต่างๆที่เขาผลิตออกมาเพื่อดูดเงินในกระเป๋าของพ่อแม่ และผู้ปกครองที่รักและห่วงใยบุตรหลานของตน ซึ่งของเล่นต่างๆเหล่านี้แต่ละชิ้น ผู้ผลิตต่างก็ทำการวิเคราะห์ วิจัย ถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่เด็กๆแล้ว ผมชอบเดินดูเพราะระยะนั้นผมชอบผลิตสื่อการเรียนการสอน เพื่อนำมาใช้ในห้องเรียน ของเล่นที่ผมเดินดูหลายชิ้น ถูกผมนำมาดัดแปลงเป็นสื่อการเรียนการสอนเรียบร้อยแล้ว

กลับมา พูดถึงตลาดนัดอีกครั้ง หลายครั้งที่ผมได้สื่อการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษที่มีประโยชน์และราคาแพง ในราคาที่ถูกแบบไม่น่าเชื่อ ผม
มีความสุขทุกครั้งที่เห็นเด็กๆเล่นสื่อฯของผมด้วยความสนุกและพอใจ

วันหนึ่งผมไปเดินดูของตามปกติที่ตลาดนัดวัดพิกุล ที่อำเภอบ้านนา ผมเดินดูไปเรื่อยๆ แล้วผมก็สะดุดตากับแผงขายเสื้อผ้า ผมมองดูเสื้อยืดหลากสีที่พ่อค้า แม่ค้านำมาแขวนไว้ ที่หน้าอกเสื้อยืดทุกตัว จะมีแต่ภาษาอังกฤษทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ ชื่อทีมฟุตบอลดังๆ ชื่อซูเปอร์ฮีโร ชื่อซูเปอร์สตาร์ต่างๆ ชื่อดารา ชื่อการ์ตูนที่มีชื่อเสียง ฯลฯ สารพัด

แล้วความคิดหนึ่งก็เข้ามาในสมอง ผมก็พูดกับตนเองว่า ทำไมเราไม่สอนภาษาอังกฤษจากเสื้อยืดบ้างล่ะ ยี่ห้อสินค้าต่างๆเราก็นำมาสอนแล้ว ชื่อถนนในตัวเมือง ป้ายบอกทางต่างๆก็นำมาสอนแล้ว สอนภาษาอังกฤษจากเสื้อยืด ก็น่าจะได้ผลนะ ผมก็ได้แต่เก็บความคิดนี้ไว้ คิดว่าเมื่อถึงโอกาสจะลองนำมาใช้ดู

และแล้วโอกาสที่ผมได้ทดลองทฤษฎีของผมก็มาถึง
ปีนั้นผมได้ลงมาสอนป.3 หลังจากที่สอนประถมปลายมาโดยตลอด สิ่งแรกที่ผมคิดและต้องทำให้ได้คือ ต้องทำให้เด็กจำอักษรอังกฤษให้ได้ทุกตัว และต้องเทียบอักษรอังกฤษเป็นอักษรไทยให้ได้ด้วยเพื่อจะได้เป็นหลักในการอ่าน
สิ่งแรกที่ผมทำคือผมทำใบความรู้ เรื่องการเทียบอักษรอังกฤษ-ไทย แจกเด็ก สอนเด็กๆเทียบอักษรแบบคร่าวๆ หัดอ่านยี่ห้อสินค้าโดยอาศัยใบเทียบอักษรที่แจกไป จากนั้นบอกเด็กว่า ชั่วโมงต่อไปขอให้ทุกคนนำเสื้อยืดมาด้วยคนละตัว จะเป็นเสื้อยืดอะไรก็ได้ สีอะไรก็ได้ จะเก่าจะใหม่ก็ได้ไม่มีปัญหา

พอวันนั้นมาถึง ผมเข้าห้องสอนด้วยความมั่นใจ แล้วผมก็ให้เด็กนำเสื้อยืดออกมาสวมทับเสื้อนักเรียนอีกชั้นหนึ่ง เด็กๆตื่นเต้นกันมาก คุยกันลั่นห้อง ต่างก็อวดเสื้อของตนอย่างมีความสุข ผมบอกให้เด็กเงียบ แล้วสังเกตเสื้อยืดที่เด็กๆใส่มา เป็นไปตามที่คาดไว้จริงๆคือ เสื้อทุกตัวที่เด็กๆใส่ มีแต่ภาษาอังกฤษทั้งนั้น

ผมขออาสาสมัครมา 1 คน ชี้ที่อักษรบนหน้าอกเสื้อทีละตัวให้เด็กตอบว่าเป็นอักษรอะไร เด็กๆแย่งกันตอบเสียงดังลั่นไปหมด จากนั้นผมก็จะให้เด็กลองอ่าน โดยหัดให้เด็กสะกดคำแบบภาษาไทย
เผอิญเสื้อที่เด็กคนนั้นใส่มาเป็นเสื้อไอ้แมงมุม มีรูปมนุษย์แมงมุมเต็มหน้าอก และมีอักษร SPIDER MAN กำกับอยู่ พอให้เด็กอ่านเท่านั้นแหละ เสียง “สไปเดอร์แมน ๆ ๆ” ดังลั่นห้องไปหมด ผมต้องให้เด็กเงียบเสียงลง แล้วก็เทียบอักษรให้เด็กดูว่า ทำไมจึงอ่านว่า “สไปเดอร์แมน” แล้วก็สอนเสียงสระเพิ่ม คือ er = เ - อร์

ตอนหลังพอขออาสาสมัครอีก เด็กจะแย่งกันออกมาหน้าห้องเพราะอยากโชว์เสื้อของตน และอยากทราบว่าอักษรที่เสื้อของตนนั้นอ่านว่าอย่างไร ผมให้อาสาสมัครออกมาอีก 4-5 คนจึงหยุด แล้วก็บอกให้เด็กจับคู่กับเพื่อน ให้ดูว่าเสื้อของเพื่อนมีอักษรอะไรบ้าง อ่านได้ไหม ถ้าอ่านไม่ได้ให้จดใส่กระดาษแล้วออกมาถามผม

จากนั้นจึงให้จับกลุ่ม 4-5 คน จดอักษรบนเสื้อของทุกคนลงสมุด (ถ้าอักษรมากเกินไปก็ตัดออกบ้างเพื่อความเหมาะสม) แล้วให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอหน้าห้องกลุ่มละ 1 คำ โดยให้เลือกคำที่กลุ่มตนเองมั่นใจมากที่สุด ในขั้นตอนนี้ผมสามารถสอดแทรกการเทียบอักษร และการอ่านได้อีกมากมาย รวมทั้งยังอธิบายความหมายของคำบางคำบนเสื้อได้อีก

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมจัดค่ายภาษาอังกฤษกับคณะครูโครงการสองภาษา และมีอยู่ช่วงหนึ่งก่อนให้เด็กพักทานข้าวกลางวัน ผมได้นำเทคนิคนี้มาใช้

ผมเห็น Mr. Kayne ใส่เสื้อยืด แล้วมีอักษรที่หน้าอกว่า Climbing Dog ผมให้เด็กอ่านอักษรทีละตัว แล้วให้อ่านเป็นคำ แล้วลองถามเด็กถึงคำว่า Climbing ว่ามาจากคำว่าอะไร และแปลว่าอะไร เด็กๆตอบได้ เพราะเป็นเด็กโครงการสองภาษา ลองให้เด็กแปลเป็นภาษาไทย เด็กๆแปลว่า หมากำลังปีนต้นไม้บ้าง หมากำลังไต่เขาบ้าง ส่วนผมเองนั้นก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ผมจึงขอให้ Mr. Kayne บอกความหมายที่แท้จริง Mr. Kayne บอกว่าเป็นกีฬาไต่หน้าผา ที่กำลังนิยมเล่นกันอยู่ทั่วไป พอผมพิจารณาที่หน้าอกเสื้อของ Mr. Kayne ผมก็เห็นรูปคนกำลังเล่นกีฬาชนิดนี้จริงๆ

อันที่จริงแล้ว เทคนิคเรียนภาษาอังกฤษจากเสื้อยืด ยังสามารถนำไปดัดแปลงในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กๆได้อีกมากมาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าท่านมีแนวทางและความคิดต่อยอดอย่างไร สำหรับสิ่งที่ผมเล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ผมได้ลองใช้เท่านั้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเขียนชิ้นนี้คงให้แนวคิดใหม่ๆแก่ท่านผู้อ่านบ้างนะครับ





มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์






-----------------------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

จะเรียนภาษาอังกฤษไปทำไมนะ


จะเรียนภาษาอังกฤษไปทำไมนะ

ตั้งแต่บรรจุเป็นครูภาษาอังกฤษมา ปัญหาที่น่าหนักใจที่สุดคือ การที่ต้องสอนภาษาใหม่ให้แก่เด็กๆ ต้องสอนให้เขารู้ ให้เขา ฟังออก พูดได้ อ่านได้ เขียนได้ ตามวัยและตามวุฒิภาวะของเขา การสอนภาษานี้จะต้องมีเวลาให้เขา ต้องฝึกทักษะแต่ละด้านให้มากๆ และเด็กๆจะต้องใช้ความพยายามพอ สมควรทีเดียว
ข้ออ้างสำหรับเด็กที่ไม่ยอมรับรู้ และไม่ใส่ใจในการเรียนภาษาอังกฤษก็คือ “ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่สักหน่อย ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม” อืมมม…… ใช่นะ แต่ภาษาไทยที่เป็นภาษาของเราล่ะ และวิชาอื่นๆอีกล่ะ คุณเรียนได้ดีไหม
สอนเด็กทุกรุ่น สอนเด็กทุกปีก็จะพยายามพร่ำเตือนเด็กๆอยู่เสมอว่า “โลกในอนาคต ภาษาอังกฤษจะสำคัญมากนะ” แต่เด็กๆจะไม่ค่อยเชื่อเพราะคิดว่า “ก็คุณครูสอนภาษาอังกฤษนี่ คุณครูก็ต้องว่าภาษาอังกฤษสำคัญที่สุด คุณครูสอนวิชาไหน ก็ต้องบอกว่าวิชานั้นสำคัญเป็นธรรมดา”
หลายครั้งหลายหนที่ลูกศิษย์เก่าๆมาเยี่ยม ต่างก็มักจะพูดในทำนองเดียวกันว่า ได้ดีก็เพราะภาษาอังกฤษ หลายคนได้ทุน AFS ได้ไปต่างประเทศ หลายคนได้งานที่มั่นคงและเงินเดือนสูงเพราะภาษาอังกฤษดีกว่าคนอื่น บางคนก็บอกว่า “ตอนสอบเรียนต่อ วิชาอื่นๆคะแนนก็ใกล้เคียงกัน ไม่หนีกันเท่าไร แต่ที่ได้ก็เพราะได้คะแนนอังกฤษสูงกว่าคนอื่นๆ”
ก็ครูอังกฤษนี่นา จะพูดอะไรก็ต้องว่า ภาษาอังกฤษสำคัญอยู่นั่นแหละ อิอิอิ
เรามาลองอ่านข้อเขียนของ ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ในคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” ใน นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 มกราคม 2550 แล้วจะรู้ว่า ทำไมจึงต้องเรียนภาษาอังกฤษให้เก่ง

************************************************************
หลังจากที่ญี่ปุ่นปฏิรูปหลักสูตรครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2545 นิติภูมิมีโอกาสไปดูงานการศึกษาในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2547 และกลับไปอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2549 เพื่อศึกษาว่า เมื่อปฏิรูปปรับปรุงหลักสูตรแล้ว การศึกษาของญี่ปุ่นเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ในการปรับปรุงหลักสูตร รัฐบาลญี่ปุ่นเน้นวิชาภาษาอังกฤษ ก่อนหน้า พ.ศ.2545 เด็กโรงเรียนรัฐบาลเริ่มเรียนเขียนอ่านอังกฤษตอน ม.1 การเริ่มเรียนที่ช้า ทำให้คนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นตามหลักสูตรใหม่ก็คือ เยาวชนที่จบมัธยมต้นและปลายต้องสื่อสารภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ ส่วนคนที่จบมหาวิทยาลัย จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการประกอบอาชีพได้
รัฐบาลญี่ปุ่นเอาจริงขนาดเริ่มนโยบายใหม่ ด้วยการหนุนให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายได้ไปเรียนภาษาอังกฤษในต่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ใครที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็จะต้องสอบวิชาการฟังภาษาอังกฤษ เพราะถ้าไม่บรรจุวิชาสอบเอ็นทรานซ์ไว้อย่างนี้ เด็กก็จะไม่ ขวนขวายเพื่อฟังภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง
************************************************************
เป็นอย่างไรบ้างครับ นี่ขนาดประเทศที่ได้ชื่อว่า ประชาชนมีความเป็นชาตินิยมสูงนะครับ ยังมีความคิดขนาดนี้ แล้วเรายังจะคิดล้าหลังเขาอีกหรือครับ มาอ่านต่อนะครับ
************************************************************
สำคัญที่สุดก็คือ ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษซึ่งทั้งประเทศมี 6 หมื่นคน รัฐบาลพัฒนาครูภาษาเหล่านี้ด้วยการจัดหลักสูตรอบรมอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น ยังจัดงบประมาณจ้างผู้ชำนาญการภาษาอังกฤษมาช่วยสอนครูถึงในสถานศึกษา
พ.ศ.2546 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นออกกฎหมายให้ครูที่สอนเกิน 10 ปี จะต้องเข้ารับการฝึกอบรม + โรงเรียนยังต้องส่งครูไปฝึกงานในสถานที่ประกอบธุรกิจ ไม่ใช่ไปเพียงอุจจาระปัสสาวะแล้วก็กลับนะครับ แต่ไปฝึกระยะเวลายาว เพื่อให้ครูมีประสบการณ์ทางด้านสังคมด้วย
************************************************************
โอย…เห็นนโยบายของเขาแล้วน่าอิจฉาจัง สมมติว่าเราไปเป็นครูสอนภาอังกฤษที่นั่น เราจะทำได้อย่างที่เขาต้องการไหมนะ เอาอีกนิดดีกว่านะครับ
************************************************************
นักศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดครูหรือในวิทยาลัยครูก็เหมือนกัน แค่ความรู้ในระบบจากสถาบันการศึกษา ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพเป็นครูได้ ถ้านักศึกษาครูอยากได้ใบประกอบวิชาชีพครูประถมและมัธยมต้น จะต้องไปฝึกงานจากสถานสงเคราะห์ต่างๆเป็นระยะเวลานานพอสมควรเสียก่อน
************************************************************
ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ ทรัพยากรมนุษย์ ญี่ปุ่นรู้ซึ้งถึงสัจจธรรมข้อนี้ จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาคนในชาติของเขาให้เป็นคนที่มีคุณภาพ พัฒนาเป็นขั้นตอนตั้งแต่เด็กๆเลยทีเดียว แล้ววิชาอะไรล่ะที่ญี่ปุ่นเห็นว่าสำคัญที่สุดสำหรับคนในชาติของเขา
************************************************************


มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์

เกริ่นนำ

เกริ่นนำ
ตั้งแต่เด็กจำได้ว่าชอบเรียนภาษาอังกฤษมาก และยิ่งโชคดีมากยิ่งขึ้นที่ได้เรียนภาษาอังกฤษครั้งแรกกับ คุณครูอดุลย์ จิตตนันทากูล ซึ่งนอกจากท่านจะให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษแล้ว ท่านยังเป็นต้นแบบในการสอนภาษา เทคนิคต่างๆที่ใช้สอนเด็กทุกวันนี้ก็พัฒนามาจากรูปแบบของท่านทั้งสิ้น
เป็นครูมาสามสิบกว่าปี เทคนิคการสอน อุปกรณ์การสอน ข้อทดสอบ เกม แบบฝึกหัดต่างๆ ได้ประดิษฐ์คิดค้นมามากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่เคยเก็บ ไม่เคยบันทึกไว้เลย หลายสิ่งหลายอย่างก็สูญหายไปตามกาลเวลา และบางอย่างก็ตายไปตามกาลเวลาเช่นกัน
ตอนที่ไปอบรมที่บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย อาจารย์ Joleene ท่านได้แนะนำให้พวกเราสร้าง webblog เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเพื่อเผยแพร่ผลงานของตนเอง จากจุดนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้คิด และเริ่มสร้าง webblog เพื่อบันทึก และเผยแพร่ผลงานทั้งของตนเอง และสิ่งที่ได้เรียนรู้มา โดยที่อาจจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนครูด้วยกันหรืออาจจะเป็นที่ผ่อนคลายสมองสำหรับท่านอื่นๆ
Webblog นี้คงไม่สุดสวยเลิศเลอเหมือนกับ webblog อื่นๆ เพราะเจ้าของทำได้แค่นี้จริงๆ แต่ขอให้ท่านมีความสุข เพลิดเพลินกับเนื้อหาภายในก็ดีใจแล้ว

มณเฑียร ฤกษ์วิสาข์